หุ้นค้าปลีก

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันนี้เป็นวันแรกหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ค่ะ ตามสถิติแล้ว วันนี้ (25 มี.ค.62) SETจะบวก และหุ้นกลุ่มค้าปลีก มักจะเริงร่า รับสถานการณ์ ฉะนั้นแล้วเราจะพาไปส่อง ไปแซะดูหุ้นในกลุ่มนี้กันค่ะ

ตัวแม่ของกลุ่มนี้หุ้นพิมพ์นิยมอย่าง CPALL (บมจ.ซีพี ออลล์)โดยราคานั้น เมื่อตอนเข้าไตรมาส 4/61 (1 ต.ค.61) อยู่ที่ 69.50 บาท พอใกล้ๆ สิ้นเดือน ต.ค.61 หล่นไป 63.00 บาท จากนั้นเดือนพ.ย. 61 ก็ขยับขึ้นมาได้ปริ่มๆ จะ 70 บาท จบปี 61 อยู่ที่ 68.75 บาท จากนั้น ราคาแรง ล่าสุด 76.00 บาท (22 มี.ค. 62)

งบปี 2018 ของ CPALL มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 20,930 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่แล้ว 5.1% รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 527,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7.9% สาเหตุมาจากรายได้การขายสินค้าและบริการของบริษัท และรวมไปถึง Siam Makro ด้วย การเติบโตของยอดขายแต่ละสาขาเติบโตที่ 3.2%…(อ้างอิงhttps://brandinside.asia)

ปี 2018 ผ่านมาทาง CPALL ได้เปิดสาขาใหม่ทั้งสิ้น 720 สาขา มีสาขาทั้งสิ้น 10,988 สาขา แผนการบริษัทในปี 62 ยังตั้งเป้าที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกประมาณ 700 สาขา และภาพรวมบริษัทคาดว่า จะใช้งบลงทุนในปี 62 ประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท

ตัวต่อมา BJC (บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์) โดยราคานั้นเมื่อตอนเข้าไตรมาส 4/61 ( 1 ต.ค.61) อยู่ที่ 59.25 บาท และยวบลงไปถึง 50.25 บาท ปลายเดือน พ.ย.61 อยู่ที่ 52.00 บาท และสิ้น ธ.ค.61 อยู่ที่ 50.75 บาท ขณะที่ล่าสุด 50.50 บาท (22 มี.ค. 62)

ผลงานของ BJC ภายใต้การคุมบังเหียนโดย นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำได้ดีกำไรสุทธิไตรมาส 4/61 เท่ากับ 2,126 ล้านบาท (+26.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +14.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ดีกว่าคาด 10% …(อ้างอิงwww.kaohoon.com/content/281483)

ปี 62 BJC มีแนวโน้มเติบโต จากราคาวัตถุดิบหลักและต้นทุนพลังงานลดลง บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นน่าจะช่วยหนุนอัตรากำไรขึ้นขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรอาจต้องระวังราคาของวัตถุดิบอาทิเช่น ก๊าซธรรมชาติ, มันสำปะหลัง, น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว (อ้างอิง http://www.bangkokbiznews.com)

ตัวต่อมา ROBINS (บมจ.โรบินสัน) โดยราคานั้นเมื่อตอนเข้าไตรมาส 4/61 (1 ต.ค.61) อยู่ที่ 71.00 บาท พอใกล้ๆ สิ้นเดือน ต.ค.61 หล่นไป 63.50 บาท จากนั้นสิ้นเดือน พ.ย. ดีดขึ้นมาได้ 67.25 บาท และสิ้น ธ.ค.61 วูบลงไปอยู่ที่ 63.50 บาท ขณะที่ล่าสุดยังฮวบต่อเนื่องอยู่ที่ 58.00 บาท (22 มี.ค. 62)

ROBINS เป็นติ่งย่อยของกลุ่มเซ็นทรัล โดยมี บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นใหญ่ ในช่วงหลังสถานการณ์ไม่ค่อยเวิร์ค กำไรปี 61 โตเล็กน้อยมาที่ 2.94 พันล้านบาท จากปีก่อน 2.74 พันล้านบาท และการเปิดห้างใหม่ก็ยังน้อยกว่าที่คาด ทำให้ราคาวูบรัวๆ อย่างไรก็ตาม ตามตำราหากการเมืองชัดเจนขึ้นเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะส่งผลให้บริษัทยังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ค่ะ

ตัวต่อมา HMPRO (บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์) ไตรมาส 4/61 (1ต.ค.61) อยู่ที่ 15.50 บาท พอปลายเดือน ต.ค.61 ย่อไปเหลือ 14.50 บาท จากนั้นเดือนพ.ย. ดีดขึ้นมา 15.20 บาท (27 พ.ย. 61) และสิ้น ธ.ค.61 อยู่ที่ 15.20 บาท ขณะที่ล่าสุดอยู่ที่ 15.30 บาท (22 มี.ค. 62)

HMPRO คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 จะสูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 4/61 เนื่องจากความมั่นใจของผู้บริโภคกลับมาเพิ่มขึ้น และทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ HMPRO ติดรายชื่อหุ้นเข้าคำนวณดัชนี FTSE Large Capโดยราคาหุ้นมีผลตอบแทน YTD น้อยกว่าดัชนี SET…(อ้างอิงhttp://www.bangkokbiznews.com)

ตัวต่อมา MAKRO (บมจ.สยามแม็คโคร) ไตรมาส 4/61 (1ต.ค.61) อยู่ที่ 34.00 บาท พอสิ้นเดือนพ.ย. 32.50 บาท และสิ้น ธ.ค.61 อยู่ที่ 32.00 บาท ขณะที่ล่าสุดอยู่ที่ 35.25 บาท (22 มี.ค. 62) ซึ่ง MAKRO ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561 ระดับ 1,844 ล้านบาทปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ตัวต่อมา GLOBAL (บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์) ไตรมาส 4/61 (1ต.ค.61) อยู่ที่ 20.50 บาท ต่อมา 1 พ.ย. วูบเหลือ 18.80 บาทและสิ้น ธ.ค.61 อยู่ที่ 19.50 บาท ขณะที่ล่าสุดอยู่ที่ 18.00 บาท (22 มี.ค. 62)

ตัวนี้ GLOBAL ราคาอาจไม่พุ่งมาก แต่อนาคตพอได้ค่ะ เหตุเพราะบริษัทเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ปี 62 อีก 7 สาขาทั้งในประเทศและกัมพูชา จากปัจจุบันมี 62 สาขา มั่นใจยอดขายปีนี้โตตามเป้า ส่งผลกำไรไตรมาส 1/62 น่าจะโอเค ส่งผลให้ราคาขยับไปมากกว่านี้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม หุ้นค้าปลีกจะอิงกับการเติบโตของการอุปโภคบริโภคในประเทศค่ะ ถ้าบ้านเมืองนิ่ง ทุกอย่างก็ฉลุย…วันนี้ไปละค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments