ขึ้นดอกเบี้ย

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า ช่วงนี้เหล่าบรรดานักลงทุนคอแห้งผาก ปวดตับกับปู่ SET หนักเลยค่ะ เมื่อวาน (17 ธ.ค.61) ปิดไป 1,601.48 จุด ท่ามกลางลุ้นระทึกจะปิดหลุด 1,600 จุดหรือไม่ ส่วนวัน-สองวันนี้ ยิ่งต้องลุ้นหนักเป็น 2 เด้ง (18-19 ธ.ค.61) เพราะมีทั้งเรื่องในประเทศ (กนง.นัดถกเข้ม 19 ธ.ค.จ่อ ขึ้นดอกเบี้ย นโยบาย) และนอกประเทศ (พี่เฟดประชุมขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปี)

มาดูกันที่ปัจจัยในประเทศกันค่ะ ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือ 7 อรหันต์ เพื่อเคาะว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่? ซึ่งครั้งสุดท้าย หวยออก 4 ต่อ 3ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อไป (เคยต่ำสุดอยู่ที่ 1.25%) และหวยงวด 19 ธ.ค.นี้ หลายสำนักคาดการญ์ว่า มีแนวโน้มสูงที่กนง.จะต้องขยับแล้วไปต่อ (อยู่ไม่ไหวแล้วค้าาา)

เมื่อดูจากท่าทีของบิ๊กบอสแบงค์ชาติ “นายวิรไท สันติประภพ” พบว่ามีการส่งสัญญาญผ่านการให้สัมภาษณ์ ในลักษณะ ที่ว่า …

“หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ในช่วงต่อไป เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพูดว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% ต้น ๆ และปีหน้าอยู่ที่ 3% ปลาย ๆ หรือ 4% ต้น ๆ แต่การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ๆ จะสร้างผลข้างเคียง อาจจะเป็นปัญหาได้ในระยะยาว และไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ” (อ้างอิง เว็บประชาชาติ 24 พ.ย.61)

ประกอบกับกรรมการ กนง. บางรายที่อยากให้ปรับดอกเบี้ยระบุ “เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอแล้ว ขณะที่ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน”

ขณะที่มุมเห็นต่าง นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า “กรณีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น จะมีอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพยถาวร (บ้าน รถยนต์) จะชะลอตัวลง การลงทุนเพื่อประกอบกิจการก็อาจชะลอตัวลงด้วย” (เว็บไทยโพสต์ 16 ธ.ค. 61)

กล่าวโดยสรุป นายอนุสรณ์ ฟันธงว่า “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตและป้องกันปัญหาฟองสบู่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อน “

และยังมีอีกคน ที่ส่งซิก แรงๆ ชัดๆ อย่าง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ขุนคลัง กล่าวว่า การส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ ธปท.อยู่แล้ว แต่การจะขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ใช่แค่จะขึ้นตามคนอื่น โดยหัวใจสำคัญต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านการเงิน เพราะจะปล่อยให้เกิดปัญหาความปั่นป่วนขึ้นไม่ได้ (อ้างอิง เว็บประชาชาติ 24 พ.ย.61)

“ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ขณะนี้เกิดเงินไหลออกมาก หรือค่าเงินตกอย่างรวดเร็วจนคุมไม่อยู่หรือไม่ นอกจากนั้นก็ต้องดูผลกระทบต่อการลงทุนธปท. ต้องดูเพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งจะมีต้นทุน การขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้งมีต้นทุน ขึ้น 0.25% ก็เป็นต้นทุนของประเทศหลายหมื่นล้านบาท เป็นต้นทุนของ ธปท.เองก็หลายหมื่นล้านบาท”(อ้างอิง เว็บประชาชาติ 24 พ.ย.61)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกแบบให้ แบงค์ชาติ เป็นเอกเทศ จากกระทรวงการคลัง แต่อย่างลืมว่าประเทศบริหารโดยรัฐบาล และขุนคลังก็เป็นคนจากรัฐ และตามตรรกะของไทมมิ่งช่วงก่อนการเลือกตั้ง ทุกรัฐบาลจะพยายามไม่ไปเพิ่มภาระไม่ว่าทางใดก็ตามให้กับประชาชน มีแต่จะลด แลกแจกแถม (เหมือนที่ทำอยู่ทุกวันนี้) เพราะอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงในอนาคตได้ค่ะ

ฉะนั้นอาจต้องลุ้นดูว่ากำลังภายในของรัฐบาลจะเข็งพอที่จะงัดข้อให้ กนง. คงดอกเบี้ย เพื่อซื้อใจคนกลาง-ล่างต่อไปได้หรือไม่ ? ซึ่งถ้ามองจากมุมการเมืองจ๋าๆ แนวโน้มคงดอกเบี้ยยังมีลุ้นคะ

แต่ทว่าหากมีการขยับดอกเบี้ยขึ้นจริง ตามตำรา กลุ่มแบงค์ใหญ่ มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์ จากดอกเบี้ยขาขึ้นไปด้วย และอาจจะมีการซื้อเก็งกำไรดักไว้ก่อน ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ให้ข้อสังเกตว่า กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะสะเทือนต้นทุนในการทำธุรกิจของทั้ง 2 กลุ่มนี้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องของดอกเบี้ยนั้นหลีกเหลี่ยงลำบากที่จะไม่ขึ้น เพียงแต่ว่าจะขึ้นในปี 61 นี้ หรือรอไปต้นปี62 เท่านั้นเองคะ…วันนี้ไปละคะ บ๊ายย

Facebook Comments