ดอกเบี้ย

มาแล้วคะ อิป้าหามาเล่า วันนี้จะเหลาให้แหลมเรื่อง “อ่อนไหว” อย่างปม ขึ้น ดอกเบี้ย นโยบาย  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่นักวิเคราะห์ นักวิแคะ ใส่เข้าไปในเครื่องประเมินสถานการณ์ หรือทิศทางของ ตลาดเงิน ตลาดทุน ด้วยนะค่ะ โดยผ่านมา 7เดือนแล้ว เสียงเรียกร้อง ให้มีการทบทวนหรือพูดง่ายๆคือให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้แล้ว เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ คะ

ก่อนอื่น มาดูวาจาของคนรัฐ แม่ทัพเบอร์ 1 เศรษฐกิจ อย่างเฮียกวง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นในเรื่่องนี้ แบบกลางๆ ไม่ก้าวก่าย ” เรื่องนี้ กนง.และ ธปท. ดูแลอยู่ เชื่อว่าไม่น่าจะปล่อยให้เกิดช่องว่างที่ห่างกันเกินไประหว่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศ มีหลักการอยู่แล้วควรจะมีช่วงห่างแค่ไหน เพื่อไม่ให้ผิดปกติ”

ด้านขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ระบุว่า “ส่วนตัวยังมองว่าในปีนี้ กนง. ยังไม่ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการปรับขึ้น จะพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาหลายๆอย่างประกอบด้วย แม้ว่าหลายประเทศจะมีการปรับขึ้น แต่หากไม่มีความจำเป็นไทยก็ไม่ควรปรับขึ้นตามประเทศอื่นๆ”

ส่วน แบงค์ชาติ ไม่กล้าผลีผลามคะ สงวนท่าที เต้นฟุตเวิร์ค ไปเรื่อยๆ เพราะอย่าลืมนะคะ นโยบายการเงินนั้น มีทั้งความอ่อนไหว สลับซับซ้อน มีคนได้และเสียประโยชน์ และมีผลต่อตลาดการเงินสูง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายอาจนำไปสู่ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุน ทางรัฐจึงต้องคิดให้หนักๆ

ในขณะที่คนรัฐ ส่วนใหญ่จะยังไม่อยากให้ปรับขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้น ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและครัวเรือนก็ขยับขึ้นตาม คนรากหญ้า-ภาคเกษตร-มีหนี้ครัวเรือนต้องมีรายจ่ายเสียดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินในกระเป๋าจางลงไปอีก กำลังซื้อหดหาย พาลไปด่ารัฐบาลอีก คะแนนเสียงถอยถอยอีก ดังนั้นรัฐจึงต้องประคองไปก่อน

แต่ทว่ายามนี้ เสียงเรียกร้องเริ่มออกมาแล้ว อย่าง “บัณฑิต นิจถาวร “สถาบันกรรมการบริษัทไทย กระตุ้นว่าทางแบงค์ชาติ ควรเริ่มทบทวนการดำเนินนโยบายการเงิน ได้แล้วเพราะถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เหตุเพราะตอนนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการกระตุ้นจากภาครัฐ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องคงใช้อัตราดอกเบี้ยต่อ อย่างไรก็ตาม ในภาวะขณะนี้ ไล่เรื่อยไปจนถึงสิ้นปี ทางแบงค์ชาติ และกนง. อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก จากปัจจัยหลากหลายที่บีบรัดให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด

ปัจจัยแรก คือเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น…มิถุนายน 2561 เงินเฟ้อ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 (เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน) ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จึงต้อง ปรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จากร้อยละ 0.7-1.7 เป็นร้อยละ 0.8-1.6 เดี่ยวมาลุ้นเดือน ก.ค. กันว่าจะเพิ่มเป็นเดือนที่ 13 หรือไม่?ซึ่งถ้าเพิ่มต่อเนื่องอีก 3-4 เดือน น่าจะมีความชัดเจนขึ้น

และแม้เป้าหมายที่ ธปท. ได้ตกลงเอาไว้กับกระทรวงการคลัง ในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ที่ 2.5% นั้น ในขณะนี้แม้จะยังห่างไกล แต่อย่างลืมว่าตามตำราแล้วการปรับนโยบายจะไม่ส่งผลในทันที แต่จะกินเวลาไป6-12เดือน ดังนั้น ถ้ายังไม่ขยับในไตรมาส 4 แล้วไปขยับในปีหน้า อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็ว-ก้าวกระโดด อาจประทบธุรกิจ-เศรษฐกิจได้

ปัจจัยที่ 2.สงครามการค้าของสหรัฐ-จีน (และอีกหลายประเทศ)ท่าจะขยายวง ยิ่งได้ความก้าวร้าวของอีตาทรัมป์ ยิ่งเหมือนสุมไฟให้ลุกโชน และ ในเดือนก.ย.- ต.ค. น่าจะรู้ว่าจะลามแค่ไหน ถ้ายืดเยื้อจะส่งผลต่อส่งออกของไทยในปี 2562 และถ้าไทยยังไม่ปรับดอกเบี้ยในปีนี้ ปีหน้าน่าจะลำบากคะ โดยประเด็นสงครามการค้า นี้ แบงค์ชาติ ให้ความสำคัญมาก จัดเป็น “ความเสี่ยงที่มีน้ำหนักที่สุด”

ปัจจัยที่ 3. เฟด ปรับ 4หน/ปี ลากเพื่อนๆ ในภูมิภาคเริ่มทยอยปรับไปแล้ว โดยดอกเบี้ยเฟด อยู่ที่ 2.0% ในปีนี้และมีแนวโน้มจะขึ้นไปถึง 3.0% ในปีหน้า ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับตามกัน อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปรับกันไปหมดแล้ว(ปรับหลายครั้งด้วย) ส่วนพี่ไทยและญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย จะอดทนได้นานเท่าไร? ซึ่งส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐนั้นถ้ายิ่งห่างกันมากก็จะ ส่งผลต่อการไหลออกของเงินทุนเป็นจำนวนมาก เหมือนกับที่ขณะนี้เงินไหลออกไปแล้ว เกือบ 2แสนล้านบาท

ต้องจับตา ประชุม กนง. ครั้งต่อไป (19 ก.ย. 61 )และอีกครั้งใน ไตรมาส 4/61 โดยมีตัวเลขเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 เป็นปัจจัยหลัก และเมื่อย้อนไปประชุมกนง.เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มติ 5ต่อ1 ให้คงดอกเบี้ย(เริ่มส่งสัญญาณ) ดังนั้นมีการคาดว่ากนง.อาจจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 2%(ตอนนี้1.5%คงมา4ปีแล้ว)

อย่างไรก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้น หรือมีแนวโน้มว่าจะขึ้น หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ หนีไม่พ้น หุ้นกลุ่มแบงค์ กลุ่มประกัน โดยเฉพาะแบงค์ใหญ่ ที่จะได้แรงบวกจากปล่อยกู้ในกับเอกชนทำโครงการภาครัฐต่างๆอีกมากมาย ฉะนั้นหุ้นกลุ่มแบงค์ จึงมีอนาคต น่าคบหาอย่างยิ่งคะ…ไปละบ๊าย

——————————-

ติดตามที่ :

#หุ้น #กองทุนรวม #fund #set #Mutualfund #epahamalao #อิป้าหามาเล่า #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #mai #ลงทุน #ออมเงิน

Facebook Comments