SET50

หนังสืออิป้าหามาเล่ามาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า ต้องยอมรับว่าการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย อิป้าเลยจะพาไปดูว่า ในกลุ่ม SET50 นั้นมีตัวไหนบ้างที่ฝ่าวงล้อมมรสุมโควิด-19 กันมาได้บ้าง ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดูมีอยู่ 10 ตัวที่ราคานั้นบวกรัว ๆ เลยค่ะ อิป้าเลยนำข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.64 ที่มีสถานการณ์โควิด-19 เริ่มรุนแรง มาเปรียบเทียบในคร้ังนี้ค่ะ (เรียงบวกมากสุดไปหาบวกน้อยสุด)

1.COM7 (บมจ.คอมเซเว่น) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 64.25 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 72.50 บาท บวกเพิ่ม 8.25 บาท หรือ +12.84%

ทั้งนี้ บล.ธนชาต ประเมินกำไรมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยผลดำเนินงานในไตรมาส 1/64 คาดว่ากำไรจะเติบโต 93% ถือว่าดีมาก จากความต้องการอุปกรณ์ด้าน IT สูงขึ้น และยังเพิ่มสินค้าของยี่ห้อ Xiaomi ด้วย รวมทั้งยังได้ประโยชน์จาก iPhone 12 อีกทั้งมี Gadget ออกมามากมาย (ที่มา ข่าวหุ้น)

2.DELTA (บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 353.00 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 372.00 บาท บวกเพิ่ม 19.00 บาท หรือ +5.38%

ทั้งนี้ ยอดขายยังสามารถเติบโตได้ที่ 10% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าของกลุ่มพลังงานสะอาด และกลุ่มธุรกิจ Data Center ที่จะมีความต้องการขยายงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความท้าทายเพิ่มขึ้น จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่วนการเดินหน้าการลงทุน ทั้งในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนเทคโนโลยีใหม่ หรือ IOT 5G บริษัทมีความพร้อม เนื่องจากมีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีในอนาคต ขณะที่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น มองว่า เป็นโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต (ที่มา กรุงเทพธุรกิจ)

3.SCGP (บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 47.25 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 48.75 บาท บวกเพิ่ม 1.50 บาท หรือ +3.17%

ทั้งนี้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง รุกเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ใน วีซี่ แพคเกจจิ้ง อีก 15-20% หรือกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี รองรับความต้องการในไทยและต่างประเทศ โดยการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวใช้งบลงทุน 510 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสายการผลิต บรรจุภัณฑ์แบบขึ้นรูปด้วยความร้อนสายการผลิตที่ 7 และคลังสินค้าใหม่ (ที่มา ไทยรัฐ)

4.IVL (บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 44.75 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 46.00 บาท บวกเพิ่ม 1.25 บาท หรือ +2.79%
บล.แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ ระบุการรายงานสเปรดผลิตภัณฑ์หลัก (PTA, PET, MTBE) ไตรมาส 1/2564 เติบโตดีทั้งจากไตรมาสก่อน, และจากงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงกำไรไตรมาส 1/2564 น่าจะออกมาดี นอกจากนี้คาดผลงานปีนี้ฟื้นตัวดีจากความต้องการ PTA/PET ยังแข็งแกร่ง+ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นสูงจะหนุน สเปรดผลิตภัณฑ์อย่าง MEG, MTBE+กำไรจากสต๊อกจากราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้น (ที่มา ข่าวหุ้น)

5.GLOBAL (บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 21.30 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 21.80 บาท บวกเพิ่ม 0.50 บาท หรือ +2.34%

ทั้งนี้ GLOBAL มีศักยภาพในการเติบโตอย่างสูงในฐานะผู้นําตลาดในประเทศเมียนมา และกัมพูชา ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนในประมาณการของเรา โดยผู้บริหารวางแผนเปิดร้านค้าที่ 2 ในจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา คาดเปิดตัวในไตรมาส 3 ปี 2564 โดยมีแนวโน้มทํากําไรได้ต้ังแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการบริษัทมีกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนธุรกิจในประเทศเมียนมาจากปัจจุบันที่ 30% มาเป็น 50% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า พร้อมด้วยเป้าหมายการเปิดร้านค้าในระยะยาวได้ถึง 20 สาขา ในประเทศเมียนมาจาก 8 สาขา ในปี 63 และ 9 สาขา ในปี 64 (ที่มา thestandard)

6.SCC (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย) วันที่ 2 เม.ย.64ปิดที่ 402.00 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 410.00 บาท บวกเพิ่ม 8.00 บาท หรือ +1.99%

ทั้งนี้ SCC กำลังกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น โดยคาดว่าผลกำไรไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งจะประกาศประมาณวันที่ 26 เมษายน มีอัตราเติบโตสูง เนื่องจากความต้องการปิโตรเคมีในตลาดโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมีอัตราเติบโตที่ดี ขณะที่หุ้น SCC ได้รับอานิสงส์จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาฟรีโฟลต หรือสภาพคล่องหุ้น เพราะหุ้นมีสภาพคล่องสูง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสถาบันเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นปูนใหญ่มากขึ้น
(ที่มา mgronline)

7.INTUCH (บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 57.50 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 58.50 บาท บวกเพิ่ม 1.00 บาท หรือ +1.73%

ทั้งนี้ INTUCH มีกระแสเงินสดในมือราว 2,000 ล้านบาท ที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ และสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ อาทิ กลุ่ม Healt Tech ณ ปัจจุบันได้มีการเจรจากับพันธมิตร 20 กว่ารายภายในโครงการ Invent และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ข้อสรุปเรื่องการเข้าลงทุนแล้ว 1 ราย กำลังเตรียมเผยแพร่รายละเอียดต่อตลาดหลักทรัพย์ในลำดับถัดไป (ที่มา thestandard)

8.BDMS (บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 21.60 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 21.90 บาท บวกเพิ่ม 0.30 บาท หรือ +1.39%

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุ BDMS เป็นบริษัทเอกชน และมีจุดแข็งจากการเป็นโรงพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ รับประโยชน์จากโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หนุนภาพการเติบโตระยะกลางถึงยาว คาดปี 2564 กำไรปกติกลับมาเติบโตเด่น 43% จากการทยอยเปิดประเทศ รวมถึงโอกาสธุรกิจด้านวัคซีนภาคเอกชน และเป็นหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ (ที่มา ข่าวหุ้น)

9.BH (บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 136.50 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 138.00 บาท บวกเพิ่ม 1.50 บาท หรือ +1.10%

ทั้งนี้ กลุ่มโรงพยาบาลปรับขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยบวกการเข้าตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประชาชน นอกจากนี้ หุ้นโรงพยาบาลยังได้ข่าวบวกจากที่รัฐบาลอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้เอง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่นักลงทุนคาดหวังมานาน ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มปรับขึ้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับตลาด (Laggard) จึงเห็นแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามา (ที่มา กรุงเทพธุรกิจ)

10.CPF (บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) วันที่ 2 เม.ย.64 ปิดที่ 29.25 บาท ล่าสุด 16 เม.ย.64 ปิดที่ 29.50 บาท บวกเพิ่ม 0.25 บาท หรือ +0.85%

ทั้งนี้ CPF กำลังได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจสุกรในประเทศเวียดนาม และกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 1/64 กำไรสุทธิไตรมาส เติบโตขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติกำไรสูงสุดใหม่รายไตรมาส (นิวไฮ) (ที่มา efinancethai)

อย่างไรก็ตาม การระบาดไวรัสโควิดครั้งนี้มีความแตกต่างจากปีก่อนมาก เพราะการระบาดกระจายไปทั่วทั้งจังหวัด และทุกกลุ่มคนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นแล้วการดูแลตัวเอง และการดูแลพอร์ตก็ต้องไม่ประมาท การ์ดไม่ตกกันนะคะ…วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายยยย

Facebook Comments