หุ้นipo

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันนี้จะชวนเม้ามอยซ์ หุ้น IPO กันค่ะ แต่เดิมแล้ว แค่แว่วว่าจะมีหุ้น IPO ก็กรี๊ดกร๊าดตลาดแตกกันเลย แต่หลัง ๆ บอกได้เลยเจ๊เหนื่อย เจ๊เพลีย ใครกันน้อที่เคยพ่นวาจาบอกถึงเสน่ห์ของหุ้น IPO น่าหลงไหล ตอนนี้จากเสน่ห์มันจะกลายเป็นเสนียดไปนะสิคะ อุ๊บๆๆๆ วันนี้อิป้าเดือดค่ะ (ฉุนแทนพี่เม่าทั้งหลาย 555)

วันนี้เลยจะพาไปดูหุ้น IPO ในปี 62 กันคะ เอาเฉพาะในกลุ่ม SET นะ มี 10 กว่าตัว พ้นน้ำแค่ 2 ตัวค่ะ ที่เหลือยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่เลย พาไปดู 7 ตัว ราคา ติดลบมากที่สุดมีดังนี้ค่ะ

1.ILM (บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์) มาร์เกตแคป 6,918.50 ล้านบาท ธุรกิจร้านค้าปลีกจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน มีบริษัทครอบครัวธรรมดาพาณิชย์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 40.26% และมีคนในตระกูลปัทมสัตยาสนธิ และอุดมมหันติสุข ถือหุ้นใหญ่ ในลำดับ 2-10 เข้าตลาด ฯ เมื่อ 26 กรกฎาคม 2562 ราคา IPO 22.00 บาท ซื้อขายวันแรก 22.80 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 13.70 บาท ลดลงจากวันแรก 9.10 บาท หรือ -39.91%

2.CPW (บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด) มาร์เกตแคป 954.00 ล้านบาท ธุรกิจจัดจำหน่ายกลุ่มสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงสินค้าแบรนด์ Apple มี บริษัท วีเน็ท แคปปิทอล จำกัด ถือหุ้นใหญ่ สุด 51.32% และมีกองทุนเปิดแอสเซทพลัสสมอล แอนด์ มิดแคป อิควิตี้ ถือในลำดับ 7 ถือ 0.64% และกองทุนเปิดแอสเซทพลัส เฟล็กซิเบิ้ล พลัสถือในลำดับ 8 ถือ 0.47% เข้าตลาดฯ เมื่อ 18 ตุลาคม 2562 ราคา IPO 2.38 บาท ซื้อขายวันแรก 2.52 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 1.59 บาท ลดลงจากวันแรก 0.93บาท หรือ -36.90%

3.SHR (บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท) มาร์เกตแคป 10,421.56 ล้านบาท ธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมชั้นนำภายใต้กลุ่ม บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด มี บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อินเตอร์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 48.60% และสำนักงานประกันสังคมโดย บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ถือหุ้นใหญ่ในลำดับที่ 8 ถือ 0.77% เข้าตลาดฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562 ราคา IPO 5.20 บาท ซื้อขายวันแรก 4.14 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 2.90 บาท ลดลงจากวันแรก 1.24 บาท หรือ -29.95%

4.ZEN (บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป) มาร์เกตแคป 4,020.00 ล้านบาท ธุรกิจ Holding Company โดยมีบริษัทแกน คือ บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง จำกัด ทำร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ “ZEN” และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น มีบริษัท เอจีบี ซิบลิ้งส์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 25.00% และมีคน นามสกุล จิราธิวัฒน์ ถือในลำดับ 3-4 และมีกองทุนเปิด ธนชาตหุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ถือในลำดับ 12 ถือ 0.74% เข้าตลาดฯ เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ราคา IPO 13.00 บาท ซื้อขายวันแรก 15.20 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 13.40 บาท ลดลงจากวันแรก 1.80 บาท หรือ -11.84%

5.AWC (บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป) มาร์เกตแคป 184,000.00 ล้านบาท ธุรกิจ Holding Companyที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ มีทีซีซี กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ถือหุ้นใหญ่สุด 29.27% ตามมาด้วยเสี่ยเจริญและภรรยา ในลำดับ 2 และ3 ขณะที่กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือในลำดับ 7 ถือ 0.33% เข้าตลาดฯ เมื่อ 10 ตุลาคม 2562 ราคา IPO 6.00 บาท ซื้อขายวันแรก 6.05 บาท ราคา ณ 10 ม.ค. 63 ปิดที่ 5.75 บาท ลดลงจากวันแรก 0.30 บาท หรือ -4.95%

6.ACE (บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้) มาร์เกตแคป 45,588.48 ล้านบาท ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ มีบริษัท แอ๊ดวานซ์ คลีน เพาเวอร์ (โรงไฟฟ้าชีวมวล) เป็นบริษัทแกน มีบิ๊กต้อย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร.และครอบครัว ถือหุ้นใหญ่ และมีธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 ถือ 3.73% เข้าตลาดฯ เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2562 ราคา IPO 4.40 บาท ซื้อขายวันแรก 4.64 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 4.48 บาท ลดลงจากวันแรก 0.16 บาท หรือ -3.44%

7.RBF (บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย) มาร์เกตแคป 8,560.00 ล้านบาท ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร มีครอบครัว รัตนภูมิภิญโญ ถือหุ้นรวมกว่า 70% และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือหุ้นใหญ่ในลำดับที่ 6 ถือ 0.46% เข้าตลาดฯ เมื่อ 24 ตุลาคม 2562 ราคา IPO 3.30บาท ซื้อขายวันแรก 4.36 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 4.28 บาท ลดลงจากวันแรก 0.08 บาท หรือ -1.83%

ส่วนตัวที่ บวก มี 2 ตัว คือ BAM (บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์) เข้าตลาดฯ เมื่อ16 ธันวาคม 2562 ราคา IPO 17.50 บาท ซื้อขายวันแรก 17.50บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 22.70 บาท เพิ่มขึ้นจากวันแรก 5.20 บาท หรือ 29.71%

DOHOME (บมจ.ดูโฮม) เข้าตลาดฯ เมื่อ 6 สิงหาคม 2562 ราคา IPO 7.80 บาท ซื้อขายวันแรก 8.70 บาท ราคา ณ 10 ม.ค.63 ปิดที่ 8.80 บาท เพิ่มขึ้น จากวันแรก 0.10 บาท หรือ 1.14%

ทั้งนี้ “จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำการพิจารณาหุ้นไอพีโอว่า ต้องพิจารณาธุรกิจของบริษัท และประเมินว่าอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้นหรือขาลง รวมไปถึงประเมิน ความถูก ความแพง ของราคาที่เสนอขายเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม โดยอาจจะใช้อัตราส่วนทางการเงินอย่าง P/BV, P/E

อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 62 หุ้น IPO จะมัวหมอง ฝุด ๆ แต่ในปี 63 นี้ นักลงทุนต้องเป็นคุณนายละเอียดมากขึ้นนะคะ เรียกว่าต้องศึกษาลงลึก ๆและรอบด้านเลย วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments