หุ้นบิ๊กแคป

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า ปีใหม่กันแล้ว เริ่มต้นกันใหม่นะคะ ฉะนั้นแล้ววันนี้จะพาไปดู 10 หุ้นตัวใหญ่ที่สุดใน SET กัน ว่าตัวไหนน่าจะหาจังหวะเข้าไปสอยมาติดพอร์ตกันได้บ้างคะ

1.PTT (บมจ.ปตท.) มาร์เกตแคป 1,256,772 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 1,313,897 ล้านบาท ลดลง 57,125 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 46.00 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 44.00 บาท ลดลง 2.00 บาท หรือ -4.34% ขณะที่ ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 9.70 เท่า เป็น 13.22 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 1.54 เท่า เป็น 1.45 เท่า

พี่บิ๊กในกลุ่มพลังงานถูกคาดหวังจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ทำให้น่าจะมีปัจจัยบวกหนุนในปี 63 โดยที่ PTT ธุรกิจยังแกร่ง และมีแรงหนุนจาการที่่ PTTOR จะเข้าตลาดฯ อีกด้วยค่ะ

2.AOT (บมจ.ท่าอากาศยานไทย) มาร์เกตแคป 1,060,713 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 917,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142,857 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 64.25 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 74.25 บาท เพิ่มขึ้น 10.00 บาท หรือ 15.56% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 36.47 เท่า เป็น 42.38 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 6.38 เท่า เป็น 6.89 เท่า

โดย AOT เป็นหุ้นตัวจี๊ดประจำไตรมาส 1 เสมอมาจากแรงกระตุ้นภายในประเทศ คนใช้จ่ายต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ทั้งโบนัสจากปีที่แล้วที่เพิ่งได้มา รวมไปถึงเทศกาลตรุษจีน ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักมากเป็นพิเศษค่ะ

3.CPALL (บมจ.ซีพี ออลล์) มาร์เกตแคป 649,029 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 617,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,441 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบ สิ้นปี 61 ราคา 68.75 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 72.25 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท หรือ 5.09% ขณะที่ ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 29.55 เท่า เป็น 29.87 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 7.76 เท่า เป็น 7.35 เท่า

แม้ CPALL จะย่อลงไปบ้างกับการตื่นกังวลกระแสข่าวซื้อกิจการ “เทสโก้” ในไทย เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เป็นช่วงสั้น ๆ และไตรมาสแรกของปีกำลังซื้อของคนยังดีดยังเด้งก็น่าจะได้อานิสงส์ไปด้วยค่ะ

4.ADVANC (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) มาร์เกตแคป 633,287 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 512,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120,429 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 172.50 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 213.00 บาท เพิ่มขึ้น 40.50 บาท หรือ 23.47% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลง จาก 16.79 เท่า เป็น 20.45 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 10.12 เท่า เป็น 10.22 เท่า

โดย ADVANC เป็นหุ้น 1ในตัวท๊อป ๆ ที่นักวิเคราะห์หลายคนว่า จะเป็นดาวเด่นในปี 63 จากพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการดีต่อเนื่อง ราคาวิ่งได้เรื่อย ๆ เติบโตไม่หยุดเลยล่ะค่ะ

5.PTTEP (บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) มาร์เกตแคป 494,263 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 450,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43,670 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 113.50 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 124.50 บาท เพิ่มขึ้น 11.00 บาท หรือ 9.69% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลง จาก 12.24 เท่า เป็น 10.74 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 1.18 เท่า เป็น 1.35 เท่า

โดย PTTEP น่าจะได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันดิบกลับมาฟื้นตัวและไม่มีความเสี่ยงน้ำมันล้นตลาด (Overhang) แถมถูกคาดผลประกอบการไตรมาส 4/62 น่าจะแจ่มแจ๋วค่ะ

6.SCC (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย) มาร์เกตแคป 470,400 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 523,200 ล้านบาท ลดลง 52,800 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบ สิ้นปี 61 ราคา 436.00 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 392.00 บาท ลดลง 44.00 บาท หรือ -10.09% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 11.17 เท่า เป็น 13.30 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 1.96 เท่า เป็น 1.71 เท่า

แม้ปี 62 จะไม่ใช่ปีของ SCC แต่ในปี 63 SCC กำลังดันบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เพื่อเปิดแนวรุกธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่โตขึ้นทุกวัน จึงน่าจะทำให้ราคาขยับได้บ้างค่ะ

7.SCB (บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์) มาร์เกตแคป 414,260 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 453,295ล้านบาท ลดลง 39,035 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 133.50 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 122.00 บาท ลดลง 11.50 บาท หรือ -8.61% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 10.76 เท่า เป็น 9.87 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 1.22 เท่า เป็น 1.05 เท่า

ปี 62 แบงก์ใหญ่เจ็บหนักแต่ปี 63 นี้ หลายกูรูแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากราคาหุ้นถูก ยิ่งเฉพาะ SCB ขยายการลงทุนเติมพอร์ตต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้กำไรไตรมาส 4/62 ดูดีขึ้น

8.BDMS (บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ) มาร์เกตแคป 413,192 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 388,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,602 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 24.80 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 26.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.20 บาท หรือ 4.83% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 39.35 เท่า เป็น 28.41 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 5.63 เท่า เป็น 5.10 เท่า

ทั้งนี้ ในปี 63 จะเห็น BDMS เปิดเกมรุกจับกลุ่มลูกค้าประกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเติมรายได้เข้ามาได้ไม่ใช่น้อยนะคะ

9.KBANK (บมจ.ธนาคารกสิกรไทย) มาร์เกตแคป 361,382 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 442,753 ล้านบาท ลดลง 81,371 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 185.00 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 151.00 บาท ลดลง 34.00 บาท หรือ -18.37% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลงจาก 11.92 เท่า เป็น 9.78 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 1.19 เท่า เป็น 0.90 เท่า

โดย KBANK ถูกจับตาในฐานะเป็นหุ้นที่มีโอกาสทำ Window Dressing (การดันราคาหุ้นปิดให้สูงขึ้นเพื่อทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตมีมูลค่าสูงขึ้น และส่งผลต่อเงินลงทุนมีมูลค่าสูงขึ้น)

10.GULF (บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์) มาร์เกตแคป 354,127 ล้านบาท (ต้นปี 62 มูลค่า 173,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180,264 ล้านบาท) ขณะราคาเปรียบเทียบสิ้นปี 61 ราคา 81.50 บาท ส่วนสิ้นปี 62 ราคา 166.00 บาท เพิ่มขึ้น 84.50 บาท หรือ 103.68% ขณะที่ค่า P/E เปลี่ยนแปลง จาก 50.30 เท่า เป็น 78.09 เท่า , ค่า P/BV เปลี่ยนแปลงจาก 4.80 เท่า เป็น 9.37 เท่า

หนึ่งในหุ้นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปี 62 หักปากกาเซียน เกจิ กูรู ที่ให้ระวังของร้อนอันตราย แต่ราคากลับขยับต่อเนื่อง ในปี 63 ทายกันว่า เสี่ยกลาง จะพา GULF ไปถึงราคาที่ทะลุ 200 บาทได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม 10 หุ้นบิ๊กแคปเหล่านี้ ล้วนแต่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มั่นคง ซึ่งหลายคนอยากมีไว้ติดพอร์ตพิจารณาจังหวะการเข้าให้ดีนะคะ โชดดีทุกท่านค่ะ…วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments