epahamalao

7 เรื่องน่ารู้…กูรูนักวางแผนการเงิน “คุณป่าน-ธัญญะ” น้ำที่ไม่เต็มแก้ว!

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันนี้จะพาไปค้นตัวตนของ 1 ในกูรูนักลงทุนมือต้นๆ ของเมืองไทย อย่าง “คุณป่าน -ธัญญะ ซื่อวาจา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่กว่าจะก้าวเดินมาถึงจุดนี้ เขามีเบ้าหลอมชีวิตอย่างไร ไปหาคำตอบกับ 7 เรื่องดีงามของเขา ที่อ่านแล้วได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์จริงๆ ค่ะ

1.เบ้าหลอมจากพ่อแม่เป็นครู…คุณป่าน ปัจจุบันอายุ 38 ปี เป็นคนจังหวัดนครปฐม พี่น้องทั้งหมด 2 คน โดยเป็นลูกคนที่ 2 ของคุณพ่อพรชัย (อดีตครูที่สระแก้ว) และคุณแม่สุนี (อดีตครูเช่นกัน)โดยปัจจุบันทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการทำไร่ ทำนา และใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณพ่อ

คำสอนของคุณพ่อคุณแม่…ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ให้คิดดี ทำดี และพูดดี” เพราะไม่ว่าเราจะรู้จักใคร ทำงานอะไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่มักจะสอนเสมอว่าต้องเป็นคน “คิดดี” เสียก่อน อย่าไปคิดร้ายกับใคร การคิดบวกจะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข และเมื่อคิดดีแล้วก็ต้อง “ทำดี” ด้วย เพราะหากมัวแต่คิดแต่ไม่ได้ทำสิ่งนั้นก็จะไม่บังเกิดผล และสุดท้ายก็ต้อง “พูดดี” ด้วย การพูดดีไม่ใช่แค่การพูดเพราะ แต่สิ่งที่พูดต้องออกมาจากความจริงใจ ถ้าเราทำได้แบบนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็จะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้นั่นเอง

ตอนเด็กๆ เคยฝันอยากเป็นนักการฑูต เพราะชอบการเจรจา การแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่พอต่อมาได้เริ่มเรียนกฎหมายก็เริ่มชอบและใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้พิพากษา แต่พอได้มาทำงานทางด้านกฎหมายธุรกิจก็เริ่มสนุกและรู้สึกว่าการทำงานทางธุรกิจก็สามารถใช้ความรู้ทางกฎหมายให้เกิดประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน

2.นักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญาธรรมศักดิ์….จบม.ปลายที่ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม แล้วไปจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับรางวัลที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต ก็คือ รางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ ประจำปี 2547 ซึ่งจัดโดย กองทุนศาสตราจารย์สัญญาธรรมศักดิ์

หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาจนจบเนติบัณฑิตไทย จากเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมป์ ในระยะเวลา 1 ปี และจบปริญญาโท จำนวน 3 ใบ โดยใบแรกเรียนด้วยทุนของตัวเอง คือ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.79

และอีก 2 ใบต่อมา ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต โดยสำเร็จการศึกษา Master of Laws สาขา International Commercial Law จาก University of Kent ประเทศสหราชอาณาจักร โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 (Merit) และสำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรนักบริหาร) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00

เพื่อนร่วมรุ่นที่มีชื่อเสียงรุ่นเดียวกันที่จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ คุณศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ หรือ คุณแจ็ค ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินการายการทางช่อง 7

3.เส้นทางทำงาน…คุณป่านทำงานที่ บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต ตั้งแต่เรียนจบในระดับปริญญาตรีจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2547 ในตำแหน่ง Legal officer และเติบโตในสายงานมาโดยตลอด โดยระหว่างที่ทำงานก็ได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นระดับปฏิบัติการ และพนักงานดีเด่นระดับบริหาร จนปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต โดยมีอายุงาน 14 ปี 11 เดือน

ปรัชญาในการทำงานที่คุณป่านยึดถือมาตลอดก็คือ งานทุกงานต้องใส่ใจ และให้ใจ และรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าขององค์กรเสมอ โดยงานทุกงานที่ผ่านมือจะถูกทำให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จเพียงอย่างเดียว เพราะหากทำงานเสร็จ ก็คือ งานที่ทำนั้นจบลงแต่อาจเกิดปัญหาตามมา แต่ถ้างานสำเร็จจะเป็นงานที่เกิดจากการวางแผนที่รอบคอบอย่างดีแล้ว จึงทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีแผนบริหารความเสี่ยงรองรับเอาไว้ด้วย

4.แฮรี่พอร์เตอร์หนังสือโปรด-ชอบออกกำลังกาย…เนื่องจากเป็นคนที่อ่านหนังสือกฎหมายเยอะมากๆ มาตั้งแต่เรียน จึงเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมากโดยเฉพาะหนังสือกฎหมาย หรือข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ แต่นอกจากหนังสือกฎหมายก็จะชอบแนวอ่านเล่นสนุกๆ เพื่อเอาไว้คลายเครียด เช่น แฮรี่พอร์เตอร์ ส่วนแนวหนังที่ชอบก็จะเป็นพวกหนังอวกาศที่ดูเพื่อความบันเทิง

คุณป่านยังเป็นคนชอบออกกำลังกายมากๆ โดยกีฬาโปรดมากที่สุดก็คือ แบดมินตัน และเทนนิส โดยทุกๆ สัปดาห์จะเล่นแบดมินตัน สัปดาห์ละ 2 วัน และเล่นเทนนิสอีกสัปดาห์ละ 1 วัน

คุณป่านอยากเห็นตัวเองในวัย 60 อยากใช้ชีวิตแบบสงบๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ และเดินทางๆไปท่องเที่ยวกับครอบครัวในที่ที่อยากไป อยากใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย และอยากเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาไปสอนนักศึกษาให้เข้าใจทั้งเรื่องกฎหมาย การวางแผนทางการเงิน และการทำธุรกิจต่างๆ

5.มุมมองต่อเศรษฐกิจบ้านเรา…ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จะเห็นได้ว่าหลายๆ บริษัทมีปิดตัว ลดพนักงาน ซึ่งสะท้อนมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีมากนัก เงินเฟ้อทุกๆ ด้านสูงขึ้นตลอดทุกๆ ปี ในขณะที่รายได้ของคนไม่ได้เติบโตในอัตราเดียวกัน การใช้จ่ายหรือการลงทุนต่างๆ

โดยเฉพาะภาคเอกชนก็มีไม่มากนัก การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจต่างๆก็ไม่เติบโตเท่าที่ควร ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ต้องระวังและวางแผนการใช้ชีวิตและวางแผนการเงินให้ดีเพื่อรองรับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคตที่อาจไม่ดีมากนัก
ทิศทางตลาดหุ้น เศรษฐกิจ หลังเลือกตั้ง

ส่วนตัวคิดว่า ทิศทางเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งอาจจะยังทรงตัวโดยยังไม่มีการเติบโตมากนัก ปัญหาที่สำคัญก็คือเสถียรภาพทางการเมือง เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศก็ตาม โอกาสที่เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงค่อนข้างจะเกิดขึ้นได้ยาก

ดังนั้นมุมมองของนักลงทุนจึงค่อนข้างกังวลกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนโยบายต่างๆ ความต่อเนื่องของแผนงานการลงทุนของภาครัฐ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงอาจส่งผลทำให้นักลงทุนมีความกังวล และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้

6.หลักการบริหารคน งานของคุณป่าน คือ ใช้หลัก “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” โดยการ “เข้าถึง” คือการเข้าถึงคน ต้องเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และลูกน้องเป็นคนอย่างไร มีความสามารถหรือความถนัดในเรื่องใด และมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถหรือความถนัดของเค้า และต้องเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา ไม่ใช่จะเอาแต่งานของเราให้สำเร็จอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนอื่น แต่ต้องเข้าถึงคนที่ทำงานร่วมกันด้วยและทำให้งานสำเร็จไปร่วมกัน

นอกจากนี้จะต้องมีความ “เข้าใจ” ในงานที่ได้รับอย่างถ่องแท้ รู้ที่มาที่ไปว่าเรื่องดังกล่าวคืออะไร สิ่งที่ต้องการคืออะไร โดยต้องเข้าใจลึกซึ้งเพื่อที่จะสามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง

7.สุดท้ายตัวตนของ ธัญญะ ชื่อวาจา คือ “น้ำที่ไม่เต็มแก้ว” เพราะเป็นคนที่ชอบการเรียนรู้อยู่ที่ตลอดเวลา และไม่เคยบ่นกับงานใหม่ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เพราะถือว่าทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ความรู้ และทุกๆงาน ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะทำให้ช่วยเติมเต็มความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ได้เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ไม่มีใครแก่เกินคำว่าเรียนรู้ ยิ่งเราเรียนรู้เยอะก็จะยิ่งได้ประโยชน์กับตัวของเราเองเยอะขึ้นนั่นเอง

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ท่านผู้ชม คมคิดของผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดาเลยนะคะ สามารถนำไปใช้เพื่อชีวิตที่ดีงามในอนาคตได้เลยนะค่ะ..วันนี้ไปละค่ะ บ๊ายยย

Facebook Comments
Skip to toolbar