มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า ขอเม้าท์ค่ะ หุ้นนางฟ้าของอิชั้นซิคะ พุ่งแบบไม่รอเพื่อนกันเลย ดั๊นเลยไปรวบรวม 10 เรื่องเผ็ดร้อนของการบินไทย มานำเสนอค่ะ (อาจจะยาวไปหน่อยนะคะ ยิ่งเขียน ยิ่งมันส์ค่ะ)

1.ราคาหุ้น THAI เจ้าของสถิติ ลิ่ง 5 วันติด และบวก 6 วันติดบวก 99.68%

-เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 3.18 บาท ต่อมา 2 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 3.20 บาท (+0.63%) ต่อมา 3 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 3.68 บาท (+15.00%) ต่อมา 7 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 4.22 บาท (+14.67%) ต่อมา 8 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 4.84 บาท (+14.69%) ต่อมา 9 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 5.55 บาท (+14.67%) ต่อมา 10 เม.ย.63 ราคาปิดที่ 6.35 บาท (+14.41%)

-เท่ากับ ลิ่ง 5 วันติด และบวก 6 วันติด โดยตั้งแต่ 1 เม.ย.63 ราคาปิด 3.18 บาท และราคาล่าสุด 6.35 บาท เพิ่มขึ้น 3.17 บาทหรือ 99.68%

-ในปี 63 ราคาหุ้นปิดต่ำสุดที่ 2.78 บาท (23 มี.ค.63) และเคยทำราคา 2.74 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 ขณะที่ราคาปิดสูงสุด 6.35 บาท เมื่อ 10 เม.ย.63
++++++++++++++
2.ทำไมราคา THAI จึงวิ่งปรอทแตก?

-หลากหลายคำวิเคราะห์ 5 – 6 ประเด็นคือ 1.อยู่ระหว่างรอแผนฟื้นฟูองค์กร (เพิ่มทุน-กู้เงิน-เพิ่มรายได้อื่น) 2.เฮียกวง-คมนาคม-คลัง ยันจะอุ้มกระเตงการบินไทยต่อไป 3.มีขาวลดเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานลง 10 – 50% หลังดีดีคนเก่าลาออก 4.ลือหนาเจ้าสัวเงินแน่น “เสี่ยเจริญ” อยากสยายปีกเข้าร่วมทุน 5.นักลงทุนยักษ์ใหญ่สัมพันธ์แน่นคนรัฐ แอบจีบอยากลงทุนในธุรกิจซ่อมอากาศยานของการบินไทย 6.เสียงลือมาตามสายลม มีใบสั่ง งานปั่นระดับชาติ!?

อิป้าหามาเล่า
3.สถานะการเงิน การบินไทย

-ปี 60 รายได้ 190,535 ล้านบาท ขาดทุน 2,107 ล้านบาท ปี 61 รายได้ 200,586 ล้านบาท ขาดทุน 11,625 ล้านบาท ปี 62 รายได้ 188,954 ล้านบาท ขาดทุน 12,024 ล้านบาท และเมื่อเจาะในปี 62 การบินไทยมีหนี้สินหมุนเวียนรวม 84,367 ล้านบาท

โดยมีส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในปีหนึ่งเท่ากับ 21,730 ล้านบาท หนี้สินระยะยาวจากสถาบันการเงิน , สัญญาเช่าเครื่องบิน และหุ้นกู้รวมทั้งสิ้น 122,120 ล้านบาท

-ส่วนของผู้ถือหุ้นลดต่ำลงเหลือ 11,765 ล้านบาท (มูลค่าหุ้นตามบัญชีเท่ากับ 5.39 บาทต่อหุ้น) อัตราหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น (Gross Debt to Equity Ratio) เท่ากับ 20.8 เท่า

-การบินไทยมีรายได้หลักมาจากค่าโดยสารตกปีละ 149,044 ล้านบาท ตอนนี้? รายได้จากค่าขนส่งและค่าพัสดุปีละ 17,784 ล้านบาท ตอนนี้?

-รายจ่ายค่านํ้ามันเครื่องบินปีละ 54,675 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบริหารความเสี่ยงนํ้ามันปีละ 981 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานปีละ 137,550 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายพนักงาน บุคลากร ผู้บริหาร กรรมการปีละ 28,483 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบินปีละ 30,159 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายให้นักบินและลูกเรือปีละ 6,242 ล้านบาท (อ้างอิง thansettakij)
++++++++++++++
4.ทำไม ถึงขาดทุนยับเยิน

-คุณภาพของผู้บริหารไม่ดี หรือพนักงานระดับปฏิบัติการไร้ประสิทธิภาพ หรือมีการทุจริตฉ้อฉลภายในองค์กร โดยทั้งคนในและคนนอก หรือรวม ๆ กัน ยังไม่มีตอบอย่างชัด ๆ ค่ะ

-แต่ที่ผ่านมาขาดทุนต่อเนื่อง อดีต DD เคยระบุว่า “ปี 62 มีปัจจัยลบ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ภัยธรรมชาติ เงินบาทแข็งสุดรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคา การประท้วงในฮ่องกง การซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต และที่หนักสุดคือ โควิด-19”

-ฐานเศรษฐกิจ เคยเจาะมาว่าปี 62 รายได้การบินไทยเฉลี่ย 184,046 ล้านบาท ตกเดือนละ 15,337 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 16,372 ล้านบาท จึงขาดทุนรวมสุทธิ 12,017 ล้านบาท

-“นักวิเคราะห์” ประเมินการบินไทยปีนี้ขาดทุนกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ลุ้นกระทรวงการคลังยอมลดสัดส่วนถือหุ้นปล่อยพ้นสภาพ “รัฐวิสาหกิจ” ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน

-โครงสร้างการถือหุ้นของการบินไทยเป็นแบบกระจุกตัว คือกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นรวมกันมากเกือบ 70% เป็นผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ สามารถคัดเลือกกรรมการเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการได้ตามใจชอบ รวมถึงผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด (DD) ซึ่งหลายครั้งไม่ได้คนที่มีความสามารถที่ดีที่สุดเข้ามาบริหารงาน
++++++++++++++
5.ย้อนอดีตเข้าตลาดหลักทรัพย์

-บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2503 ต่อมา 25 มิ.ย.2534 ครม.มีมติให้นำการบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3 พันล้านบาท โดยนำหุ้นเพิ่มทุนส่วนแรกจำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นตามมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท (5 ล้านหุ้นให้พนักงานการบินไทย และ 95 ล้านหุ้น ขายประชาชนทั่วไป)

-ต่อมา 19 กรกฎาคม 2534 การบินไทยก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทย มีการแปลงกำไรสะสมเป็นหุ้นเพิ่มทุนจนทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 13,000 ล้านบาท แล้วก็มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่อีกหลายครั้ง

-THAI เป็นหุ้นสายการบินตัวแรกที่เข้าจดทะเบียน โดยเสนอขายหุ้นในราคา 60 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท แต่ ราคาล่าสุด 6.35 บาท (10 เม.ย.63) ต่ำกว่าราคาเสนอขายครั้งแรก 53.65 บาท โดยเป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุดจำนวน 106,958 ราย

-THAI ไม่เหมือนที่คุยไว้นี่้หว่า…เพราะวันแรกเมื่อเริ่มเปิด ซื้อ-ขาย ราคากลับหลุดร่วงลงต่ำกว่า 60 บาทที่เป็นราคาจองตอนแรก หลังจากนั้นราคาก็ได้มีดีดขึ้นมายืนที่ 60 บาทได้บ้าง แต่ก็เป็นแค่เพียงช่วงสั้นๆ

-สุนันท์ ศรีจันทรา เคยเขียนไว้ว่า “ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ THAI 106,958 ราย โดยทุกคนบาดเจ็บจากการลงทุน และบางคนอาจถือหุ้นราคาต้นทุน 60 บาท หรือถือตั้งแต่มีการนำหุ้นเสนอขายประชาชนทั่วไป มาวันนี้ THAI กลายสภาพเป็นหุ้นที่ตายซากคากระดานผ่านไป 28 ปี ดอกผลการลงทุนควรจะงอกเงย แต่เงินลงทุนกลับหดหาย”
++++++++++++++
6.องค์กรซ่อนเงื่อน

-เหล่าชุมนุม 3 ก๊ก คือ1.กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และ 2. เจ้ากระทรวงคมนาคมที่ดูแลโดยตรง และ 3. กระทรวงกลาโหม ผ่านทหารที่คุมตำแหน่งประธานบอร์ด

-ในรายชื่อบอร์ดการบินไทย ขณะนี้มี 8 คน เป็นคนจากกองทัพอากศ 3 คน คือ 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธาน 2.พล.อ.อ.ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล รองประธาน และ 3.พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย กรรมการอิสระ

-ก่อนหน้านี้ตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย จะถูกผูกขาดโดยภาคราชการ โดยช่วงแรกจะมาจากกองทัพอากาศ แต่ในช่วงหลังจากที่กองทัพเริ่มถอยบทบาทจากสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ ตำแหน่งนี้มักจะเป็นของปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งน้อยครั้งที่มีคนนอก เช่น ศ.ชัยอนันต์ สมุทวานิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธ

-เมื่อ 17 มกราคม 2563 การบินไทยไฟเขียวบิ๊กต่ายพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผบ.ทบ. นั่งประธานบอร์ดการบินไทย คนใหม่หลังจากที่มีพลเรือนมาเป็นประธานบอรด์หลายคนก่อนหน้านี้

-ภาพของการบินไทยเป็นภาพขององค์กรที่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซงมาก และมีการแสวงหาผลประโยชน์สูง เมื่อพ้นดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ไปแล้ว คนที่เข้ามาใหม่ก็คงจะต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง (อ้างอิง ชัยอนันต์ สมุทวานิช เขียนไว้ตอนที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง DD)
++++++++++++++
7.เรื่องทุจริต สินบนการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์

-การจ่ายสินบนการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ระหว่างปี 2534-2548 ซึ่งโรลส์รอยซ์ยอมรับว่า ได้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทยไปทั้งหมด 3 ครั้ง ต่อมา 18 พ.ย.2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 10 ราย จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย และไม่มีรายชื่อนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง
++++++++++++++
8.อดีต ที่หอมหวาน..ไม่ย้อนกลับ

-การบินไทย ในอดีตนั้นเป็นองค์กรเบอร์ต้น ๆ ทำกำไรได้มหาศาล และมีกำไรต่อเนื่องมายาวนาน เป็นที่ชุบตัวของลูกหลานคนร่ำรวยและเหล่าอภิสิทธิ์ชน ใคร ๆ ก็อยากทำงานที่การบินไทย

-ปี 2542 การบินไทย สามารถขึ้นเป็นบริษัทที่ครองอันดับหนึ่ง ทำยอดรายได้รวมสูงถึง 112,019 ล้านบาท สูงที่สุดในจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ครองอันดับ 1 ได้เพียงปีเดียว เพราะในปี 2543 ตำแหน่งนี้ตกเป็นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่สามารถทำยอดรายได้รวมสูงถึง 129,099 ล้านบาท แต่การบินไทยก็ยังทำยอดรายได้รวมได้ 123,351 ล้านบาท

-ในการนำหุ้นเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยขณะนั้นคือ 100 ล้านหุ้น โดยมีผู้ลงทุนซื้อหุ้นจำนวน 256,000 คน และสามารถระดมทุนเป็นจำนวน 14,000 ล้านบาท

-ในปี 2555 ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานบอร์ดการบินไทยในขณะนั้น เคยเขียนบทความชี้นหนึ่งระบุว่า “บริษัท การบินไทย เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุด มีคนทำงานประมาณ 25,000 คน” (ปัจจุบัน 35,000 คน)

-กลางปี 2534 THAI เคยเป็นหุ้นที่ฮอตสุด ๆ ต้องแบ่งโควต้าให้นักลงทุนที่จองซื้อรายละ 200 หุ้น แต่เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดทุกคนต้องผิดหวัง เพราะราคาหุ้นต่ำกว่าจอง
++++++++++++++
9.เบอร์หนึ่งการบินไทย ทำไมเรียก DD

-DD การบินไทย หมายถึง ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นคำที่ไม่มีคำเต็ม แต่ในอดีตเมื่อครั้งที่บริษัทการบินไทยมีบุคลากรที่เป็นชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย มีการใช้คำว่า DD เป็น Function Code ที่ใช้เรียกบุคคลที่ทำงานมานานหรือลูกหม้อและเป็นที่นับถือ รักใคร่ และมีชื่อเสียงในบริษัท

-ผู้บริหารสูงสุดเรียกว่า DD ไม่มีใครรู้ว่าย่อมาจากอะไร นัยว่าเรียกกันมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งยังทำงานร่วมกันอยู่ในสมัยก่อน DD เป็นลูกหม้อคนในบริษัทให้ความนับถือ รักใคร่ (อ้างอิง ชัยอนันต์ สมุทวานิช)
++++++++++++++
10. ทำไมเรียกสายการบินไทยว่า TG

-TG ย่อมาจากอะไร บางคนคิดว่าย่อมาจากชื่อ Thai Away คำตอบคือ TG คือรหัสที่สายการบินยื่นเรื่องไปยังสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อขอรับCode อักษรสำหรับแทน Flight Number ของสายการบินนั้น ๆ

-IATA จะเป็นผู้พิจารณา ความเหมาะสมของ code ที่ตั้งขึ้นว่าซ้ำกับสายการบินอื่นหรือไม่ โดยการบินไทยใช้ตัวย่อของสายการบินว่า TG แต่ละเที่ยวสาย การบินจะมี code ตัวเลขตามหลัง

แต่เดิมนั้น IATA กำหนดให้ Airline กำหนด code 2 อักษร จากชื่อสายการบิน หรือถ้าอักษรนั้น ๆ มีสายการบินอื่นใช้ไปแล้ว อาจจะใช้ชื่อย่อประเทศแทน แต่สาเหตุที่ Thai Airway ใช้ TH ไม่ได้ เพราะว่า TH Thai Airway (บริษัท เดินอากาศไทย บดท.) ได้ใช้ไปแล้ว
-เอาง่าย ๆ เลยคือเป็นcode ของการบินไทย TG ใช้ในวงการการบิน ส่วน THAI ใช้ในตลาดหุ้น (อ้างอิงจาก unithaitravel)
++++++++++++++
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า หุ้นนางฟ้า – รักคุณเท่าฟ้า จะพาตัวเองไปได้ไกลขนาดไหน แต่เรื่องนี้ยังอีกยาวไกลอีกมากค่ะคุณขา วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments