กองทุนบำเหน็จบำนาญ

เริ่มต้นสัปดาห์ที่2 ของเดือนพฤษาภาคม”…อิป้าขอเม้าท์เรื่องบิ๊กบึ้มระดับมหภาคกันบ้างนะคะ…ใครเคยได้ยินเรื่องราวของ พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญ แห่งชาติ  หรือ ก.บ.ช. กันบ้าง…เอาเป็นว่า เมื่อเห็นคำว่า “บำเหน็จบำนาญ” จะนึกถึงอะไรละค่ะ ก็พวกวัย เกษียณน้านนะซิ ที่ทุกผู้ทุกนามอยากจะมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขนั้นเองค้าา

กองทุนบำเหน็จบำนาญ แห่งชาติ (ก.บ.ช.)

ขณะนี้ ทั่วโลก หรือแม้แต่ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับ”สังคมผู้สูงวัย” ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงมีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันให้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติให้เห็นหน้าเห็นตากันโดยเร็ว เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้วค่ะ

แล้ว พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ นั้นมีรายละเอียดอะไรที่ควรรู้บ้างหนา? อิป้า พาไปเลาะริมรั้ว หาข้อมูลมาให้

เริ่มจากพ.ร.บ. ดังกล่าวนี้จะบังคับใช้กับนายจ้าง และลูกจ้างเอกชน (มนุษย์เงินเดือนอีกหลายสิบล้านคน) ที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม และนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเริ่มจากร้อยละ 3 ในปีแรก

จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มเป็นลำดับขึ้นไปในปีต่อๆ ไป ซึ่งตรงนี้เสมือนลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนเพิ่มไปด้วย เพราะนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้ลูกจ้างแต่ละคนในกองทุนในอัตราเดียวกันกับที่ลูกจ้างแต่ละรายจ่าย และมีเป้าหมายให้ลูกจ้างมีรายได้หลังเกษียณที่ร้อยละ 50 ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุ

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว อิป้ายกมือท่วมหัวเชียร์สุดใจขาดดิ้นเลยค้าา เพราะมันจะเหมือนกับมีคนเก็บเงินให้เราโดยอัตโนมัติ และทำให้มีเงินก้อนหนึ่งไว้ใช้ในยามชราภาพนั้นเองค่ะ

แต่ทว่ายังมีติ่งที่สร้างความระคายเคืองให้กับอิป้า และมนุษย์เงินเดือนบางส่วนในประเด็นที่ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้ “รัฐเป็นผู้บริหารจัดการ โดยจะบริหารเอง และ/หรือคัดเลือกเอกชน ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางรายให้เข้ามาเป็นผู้จัดการกองทุน”

ประเด็น มันอยู่ตรงนี้! เมื่อเงินกองทุนนี้ทั้งหมดมาจากลูกจ้างและนายจ้าง ไม่มีเงินจากภาครัฐ รัฐจึงไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวในการบริหารจัดการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะการบริหารจัดการเงินจำนวนมากของประชาชนโดยภาครัฐจะมีความเสี่ยง

มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่โปร่งใสอันเกิดจากการแทรกแซงทางการเมืองหรือเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจโดยมิชอบได้โดยง่าย เช่น ให้นำเงินของเราไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง ฯลฯ

นอกจากนี้แล้วการจัดตั้งหน่วยงาน กบช. ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานใหม่อีกหนึ่งหน่วยงาน ต้องตั้งงบประมาณจำนวนมากขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บริหารและมาดำเนินการคัดเลือกผู้บริหารกองทุนนั้นคือสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ไม่ฉลาดเลยนะคะ อีกทั้งยังอาจถูกถลกหนังหัวเรื่องความโปร่งใสในการจัดการอีกต่างหาก…แปลไทยเป็นไทยว่า…ไม่ไว้ใจภาครัฐ ว่างั้นเถอะค่ะ!

ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน จึงควรมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ที่จะเลือกลงทุนในกองทุน ก.บ.ช. ของ บลจ. ใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ เหมือนที่เขามีสิทธิในการเลือกลงทุนในกองทุน RMF โดยเสรี ไม่ใช่ให้หน่วยงานรัฐใดใดมาเลือกให้ เพราะการเปิดเสรีจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งอิป้ามั่นใจว่าเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในปมให้ลูกจ้างมีสิทธิในการเลือกลงทุนในกองทุน ก.บ.ช. ด้วยตนเอง มิใช่ให้หน่วยงานรัฐมาเลือกให้ จะได้รับการแก้ไขในอนาคตอันใกล้นะค่ะ…วันนี้ไปละบ๊ายย

————————————

ติดตามที่ :
? Website : www.epahamalao.com
? Facebook : www.facebook.com/epahamalao
? Instagram : www.instagram.com/epahamalao
? Twitter : www.twitter.com/epahamalao

#หุ้น #กองทุนรวม #fund #set #Mutualfund #epahamalao #อิป้าหามาเล่า #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #mai #ลงทุน

Facebook Comments