หุ้นกลุ่มแบงก์

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า หลายแบงก์เริ่มรายงานกำไรสุทธิโชว์ผลงานปีที่ผ่านมา (2562) กันแล้วนะคะ แม้ว่าจะต้องเผชิญศึกกับสภาวะเศรษฐกิจรอบด้าน แต่หลายแบงก์ก็ฟันฟ่ามาได้ ไม่รอช้าคร้าาา…เช็คกันเลยมีที่แบงก์ไหนกำไรกันบ้าง

ธนาคารกรุงเทพกำไรสุทธิปี 2562 จำนวน 35,816 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในปี 2562 จำนวน 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากปีก่อนท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น กอปรกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมสอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย

โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.35 รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชีซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ร้อยละ 41.1

ฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,061,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อทุกกลุ่ม สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่เงินสำรองของธนาคารคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 220.2 ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 86.9 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ อายุ 15 ปี ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนให้โครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 20.0 ร้อยละ 17.0 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

TMBโชว์ ปี 2562 ขนาดกิจการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการ12เดือน ปี2562 ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม2562 ที่ผ่านมา ในงบการเงินรวมของทีเอ็มบี จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด31ธันวาคม2562ขณะที่งบกำไรขาดทุนนั้น จะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่4-31ธันวาคม2562

ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 ทีเอ็มบีมีสินทรัพย์ ตามงบการเงินรวม จำนวน1.9ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก0.9ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี2561ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากที่เป็นFlagship Productของทีเอ็มบี โดยเฉพาะจากเงินฝากบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี และทีเอ็มบี โนฟิกซ์ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่1.4ล้านล้านบาท จาก0.7ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของทีเอ็มบีก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ12เดือน ปี2562ตามงบการเงินรวม อยู่ที่39,821ล้านบาท ลดลงจาก48,042ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี2561ซึ่งในปีดังกล่าว ทีเอ็มบีมีการบันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้นTMBAM 65%จำนวน1.2หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม) ในปี2561อยู่ที่23,545ล้านบาท สูงกว่า12,956ล้านบาท ในปี2562ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น9.7% YoYมาอยู่ที่26,865ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี2562ปรับตัวดีขึ้น10%โดยประมาณ

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกรรมการขายหุ้น บลจ.ธนชาต หรือ TFUND นั้น สำหรับทีเอ็มบีจะรับรู้รายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูก แต่ทีเอ็มบีจะไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการนี้ เนื่องจากในการรวมกิจการ ทีเอ็มบีดำเนินการบันทึกและรับรู้มูลค่าของ TFUNDเข้ามาด้วยFair Valueแล้ว ดังนั้น การที่ธนาคารธนชาตขายหุ้น TFUND ออกไป25.1%ที่เกิดขึ้นในไตรมาส4นั้น จึงไม่มีการบันทึกกำไร โดยสำหรับTFUNDส่วนที่เหลือ49.9%ที่ธนาคารธนชาตถืออยู่ ทีเอ็มบีจะรับรู้รายได้เข้ามาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (Profit sharing from associate company)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (งบการเงินรวม) อยู่ที่20,674ล้านบาท เพิ่มขึ้น18.3%จากปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาต ประกอบกับในปี2562มีค่าใช้จ่ายone-timeหลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายEmployee Retirement Benefitตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการ (Advisory Fee)เป็นต้น

โดยทั้งปี2562ทีเอ็มบีดำเนินการตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน10,337ล้านบาท ตามแผนการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี2562จำนวน7,222ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับ11,601ล้านบาท ในปีก่อนหน้า จากผลของการบันทึกรายได้พิเศษในปี2561และค่าใช้จ่ายone-timeที่เกิดขึ้นในปี2562ที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า

แบงก์กรุงศรีรายงานกำไรสุทธิ 32.7 พันล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานปี 2561 ดังต่อไปนี้
– กำไรสุทธิ จำนวน 32.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.0% จากปี 2561 (หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 26.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2561)
– การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ เพิ่มขึ้น 8.7% หรือจำนวน 146 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เงินให้สินเชื่อมีการเติบโตครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นที่ 11.1% สะท้อนตำแหน่งผู้นำทางการตลาดของกรุงศรีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น 6.6% การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 9.9% หรือจำนวน 141 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561
– ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.60% ปรับลดลงจาก 3.81% ในปี 2561 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 31.9% จากปี 2561 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย
– อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 42.9% ปรับดีขึ้นจาก 47.2% ในปี 2561 (หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของปี 2562 อยู่ที่ 45.1%)
– สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)อยู่ที่ 1.98% ปรับดีขึ้นจาก 2.08% ในปี 2561 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: ยังคงแข็งแกร่งที่ 163.8% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ระดับ 16.56%
แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธนาคาร กรุงศรีสามารถรายงานกำไรสุทธิจำนวน 32.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.0% จากปีก่อนหน้า และสามารถขยายสินเชื่อได้ถึง 8.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารที่ 6 – 8% การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2562 สะท้อนความสามารถและความคล่องตัวของธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และสอดคล้องกับเป้าหมายโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจในสัดส่วน 50:50 ตามเป้าหมายระยะกลางของธนาคาร

SCB กำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9%

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งผลประกอบการปี 2562 มีกำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากกำไรสุทธิ 40,068 ล้านบาทในปี 2561 โดยในช่วงไตรมาส 4/62 มีกำไรสุทธิ 5,506 ล้านบาท ลดลง 62.8% จากไตรมาสก่อน และลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก โดยในไตรมาส 4/62 ตั้งสำรองฯ 9,608 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ตั้งสำรองฯรวมจำนวน 36,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.7% จากปีก่อน เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร ขณะที่มีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 134%

สำหรับการตั้งสำรองฯที่ระดับ 36,211 ล้านบาท คิดเป็น 1.70% ของสินเชื่อรวม ซึ่งจำนวน 9,100 ล้านบาท เป็นสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากระดับสำรองปกติจำนวน 27,111 ล้านบาท หรือ 1.27% ของสินเชื่อรวมในปี 2562 เพื่อใช้รองรับกับเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในอนาคต ท่ามกลางสภาพศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ระดับสำรองปกติที่ 1.27% ของสินเชื่อรวมสูงกว่า 1.15% ในปี 2561 เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ยอดสินเชื่อของธนาคาร (สุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี) ลดลง 1.3% จากปีก่อน และ 1.7% จากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง 9.0% จากปีก่อน และ 5.4% จากไตรมาสก่อน ,สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน และ 0.1% จากไตรมาสก่อน , สินเชื่อบุคคลขยายตัว 4.0% จากปีก่อน และ 0.6% จากไตรมาสก่อน เป็นต้น

SCB ระบุว่า ในปี 2562 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง อยู่ที่จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) ขณะที่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้นของธนาคารในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาสที่ 4 ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนเป็นจำนวน 70,538 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ทั้งนี้ จากการเติบโตของรายได้รวมที่ 20% จากปีก่อน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปี 2562 ปรับลดลงมาเป็น 42.5%

เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ดังนั้น ภายหลังการขายหุ้นของธนาคารในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เงินปันผลปกติจากการดำเนินงานของธนาคารประจำปี 2562 จะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในเดือนเมษายน 2563

ธนาคารกสิกรไทยกำไร 38,727 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 38,727 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 268 ล้านบาท หรือ 0.70% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,150 ล้านบาท หรือ 4.21% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.31% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 858 ล้านบาท หรือ 1.51% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 4,381 ล้านบาท หรือ 6.41% หลัก ๆ เกิดจากกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 45.32% ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 8,802 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,149 ล้านบาท หรือ 11.55% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 526 ล้านบาท หรือ 2.02% ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.25% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 385 ล้านบาท หรือ 2.44% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,374 ล้านบาท หรือ 18.95% ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล รวมถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ และกิจกรรมทางการตลาด โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของธนาคาร ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.75% นอกจากนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงจากไตรมาสก่อน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,293,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 จำนวน 138,798 ล้านบาท หรือ 4.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% ขณะที่สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% โดยสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 160.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 19.62% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.19%

นี่เป็นรายงานผลกำไร 5 แบงก์ที่ออกรายงานผลกำไรออกมาโชว์กันแล้วนะคะ ถ้ามีแบงก์ไหนออกมาเพิ่มเติม อิป้าจะนำมาฝากกันอีกคร้าาา…วันนี้ไปละค่ะ…บ๊ายยยย

Facebook Comments