INTUCH

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันนี้จะพาไปซอกแซกหุ้นพิมพ์นิยม INTUCH (บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์) ที่ถูก “กล่าวหา” ว่า เชื่อมโยงกับตระกูลชิน มาต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เด็ดขาดกันไปนานแล้วค้า แต่ทุกวันนี้ INTUCH ยังถูกจัดเป็น 1ในหุ้นการเมือง และถ้าหลังเลือกตั้ง “เพื่อไทย” เข้าวิน เชื่อว่า จะมีคนวิเคราะห์ว่า หุ้นกลุ่ม INTUCH จะพุ่งกระฉูดเลยละค้าาา

ปรากฎการณ์ของหุ้นกลุ่ม INTUCH (INTUCH – ADVANC-THCOM) ถูกตีตราเสมือนต้องคำสาป “ทักษิณ”!! ผ่านหลายเหตุการณ์ เช่นล่าสุด เหตุการณ์ “ซุปเปอร์บิ๊กเซอร์ไพรส์” 8 ก.พ.62 หุ้น INTUCH ADVANC THCOM ดี๊ด๊า ลิงโลดบวกรัวๆ เลยละค้าคุณขา พอถัดมาวันเดียว “ฟ้าผ่า” คราวนี้หุ้นกลุ่ม INTUCHดิ่งกราวรูด ถูกเทขายกันมันมือ

ในช่วงนั้น เรื่องร้อนล้นก้น ผู้บริหารนั่งไม่ได้แล้วต้องออกมาย้ำว่า INTUCH ได้ตัดขาดกับชินวัตร และ หุ้น INTUCH ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด ….โดยที่ก่อนหน้านี้ ช่วงการเมืองแรงๆ เฟสบุ๊คของ INTUCH ได้จัดทำโครงสร้างให้เห็นกันชัด ๆ ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ใน INTUCH – ADVANC-THCOM มีใครเป็นผู้ถือหุ้นหลัก

ไปดูไทม์ไลน์ ของหุ้นกลุ่ม INTUCH กันค่ะ (ไฮไลต์อยู่ที่ปี 49 ครอบครับชินวัตร ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทิ้งออกไปทั้งหมด)

ปี 2526 ทักษิณ ก่อตั้งบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์อินเวสเมนท์ จำกัด วัตถุประสงค์หลักคือ จำหน่ายและให้เช่าคอมพิวเตอร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่

ปี 2527 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด

ปี 2533 บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ได้เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ปี 2534 เอไอเอสเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และต่อมาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ในปี 2535

ปี 2536 บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน

ปี 2537 บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปี 2542 บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนเป็นบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

ปี 2544 เปลี่ยนเป็นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดจำกัด (มหาชน) เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้ง เล่นการเมืองเต็มตัว

ปี2549 ตระกูลชินวัตรได้ขายหุ้นถือครองทั้งหมดในบริษัทนี้ให้แก่บริษัทในเครือของเทมาเส็กโฮลดิงส์ของรัฐบาลสิงคโปร์

ปี 2551 เปลี่ยนชื่อชินแซทเทลไลท์ เป็นบริษัทไทยคม ท่ามกลางกระแสการเมือง(ขณะนั้น)รุนแรงขึ้น

ปี 2554 ชินคอร์ปอเรชั่น เปลี่ยนโลโก้และชื่อเรียกองค์กรใหม่เป็นINTOUCH

อ้อ ! มีเกร็ดเล็กเกี่ยวกับชื่อหุ้น INTUCH มาเล่าให้ฟังนะคะ ..คือตอนปี 53 เทมาเส็ก จ้างบริษัทเอเยนซี่โฆษณาและการสร้างแบรนด์จากอังกฤษมาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์องค์กรใหม่ และให้มีการเปลี่ยนชื่อ โดยมีเข้ารอบมา 3 ชื่อ คือ “INTOUCH Unity และ Connect. (อ้างอิงhttps://positioningmag.com)

และเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ เมื่อ 1 เม.ย.54 เปลี่ยนโลโก้จากรูปโลกเป็นลายเส้นรอยยิ้มที่สื่อถึงการสื่อสาร และมีตัวอักษรกำกับว่า INTOUCH และเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นว่า INTUCH (ไม่มี O เพื่อให้ไม่เกิน 6 ตัวอักษร เพื่อจดจำง่ายและเมื่อมีการซื้อขายวอแรนท์เติม w- ก็จะครบ 8 ตัวอักษรตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์)…(อ้างอิงhttps://positioningmag.com)

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไม ตระกูลชินขายหุ้นไปตั้งแต่ปี 49 แล้ว แต่ทำไมปี 62 คน ยังเชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้เป็นของครอบครัวทักษิณอยู่???

เมื่อปี 57 ทางสำนักข่าวอิศรา เคยทำสกู๊ปชื่อว่า ตอบโจทย์ ทำไมคนยังเชื่อว่า “เอไอเอส –ชินคอร์ป” เป็นของ “ชินวัตร” และตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ข้อ

1. กระบวนการขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก เป็นไปอย่างซับซ้อน .. ยังมีกระบวนการโอนหุ้นจากบริษัท แอมเพิลริช ให้กับคนในครอบครัวชินวัตรก่อนขายให้เทมาเส็กเพื่อเลี่ยงภาษี

2.พฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงในสมัยนั้น ที่แสดงออกจนถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ เช่น การสนับสนุนธุรกิจ (โฆษณา) ในเครือชินวัตรอย่างสม่ำเสมอ

3.ผู้บริหารของกลุ่มชินคอร์ปไม่มีความพยายามหรือไม่เคยคิดอย่างจริงจังที่จะสลัดภาพธุรกิจของในเครือให้พ้นร่มเงาของครอบครัวชินวัตร

4.บริษัทไทยคอมซึ่งได้รับสัมปทานดาวเทียมจากรัฐบาลไทย และมูลนิธิไทยคมชื่อเดียวกัน..(ปัจจุบันมี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นประธานกรรมการ มีนางพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นกรรมการมูลนิธิไทยคม)

อย่างไรก็ตาม อิป้ามองว่า ปัจจัยสำคัญสุดคือ “ภาพจำ” (ไม่เกี่ยวกับโลก 2 ใบพี่ป๊อปนะจ๊ะ) คนส่วนใหญ่ติดตราตรึงและฝังหัวไปแล้ว ว่า INTUCH – ADVANC-THCOM เป็นหรือยังอยู่ใต้ร่มปีกทักษิณ และแม้ผู้บริหารจะพยายามแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถสลัดหลุด “ภาพจำ” นั้นได้…หรืออาจต้องใช้เวลามากกว่านี้ 13 ปี อาจจะยังไม่พอคะ

และนี้เป็นเรื่องราวของหุ้นกลุ่ม INTUCH ที่ไม่ว่าภาพลักษณ์จะเป็นเช่นไร แต่ นักลงทุน ยังคงให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องคะ…วันนี้ไปละคะ บ๊ายย

Facebook Comments