ลงทุนหุ้น

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันศุกร์วันสุดท้ายการทำงานในวีคนี้ ไปดูเรื่องเบา ๆ สนุก ๆ กันนะคะ ดั๊นนั้น Feminism ตัวยงค้าาา เลยพาไปดู CEO กันมาหลายคนแล้ว แต่วันนี้จะนำมาจัดหมวดหมู่ใหม่เป็น CEO หญิงที่บริหารจัดการดูแลองค์กร (หุ้น) ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทขึ้นไป โดยคัดมา 5 คน ที่ชื่อชั้นไม่ธรรมดาแน่นอนค่ะ (เรียงตามองค์กรมาร์เกตแคปสูงลงไปนะคะ ณ สิ้นเดือนม.ค.63)

1.นางนฤมล น้อยอ่ำ วัย 55 ปี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) / กรรมการบริหาร / ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน BDMS (กรุงเทพดุสิตเวชการ) มาร์เกตแคป 395,711 ล้านบาท จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บันฑิต (เกียรตินิยม) การเงินและการคลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (สาขาการเงินการธนาคาร) มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัสสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา

เคยผ่านจำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารทหารไทย / ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการเงิน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย/กรรมการ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และเข้ามารักษาการ CEO ของ BDMS ช่วงหมอเสริฐต้องมรสุม ถูกบังคับให้ล้างมือในอ่างทองคำชั่วคราว

และยังเคยไปร่ำเรียนหาคอนเน็คชั่น เช่นหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน” (วธอ.) รุ่นที่ 3 และประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 15 สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) และหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 13 สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.13)

2.น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย วัย 54 ปี กรรมการผู้จัดการ KBANK (ธนาคารกสิกรไทย) มาร์เกตแคป 336,253 ล้านบาท หญิงสุดแกร่งว่าที่ CEO ผู้หญิงคนแรกของ KBank เตรียมรับไม้ต่อจากเจ้าสัวปั้น บัณฑูร ล่ำซำ โดย “ขัตติยา” ถือเป็นคนที่ภักดีกับองค์กรที่่สุดคนหนึ่งเพราะหลังจากจบปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทยปี 2530 ไปจบ M.B.A Finance and Investment University of Texas at Austin, U.S.A

แล้วเข้าร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2530 ที่ฝ่ายสินเชื่อการเกษตรและการผลิต ต่อมาก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 3 เมื่อต้นปี 2559 ต่อมาเมื่อ วันที่ 11 ตุลาคม 2562 “ขัตติยา” ได้รับของขวัญวันเกิดที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะเป็นวันที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติอนุมัติแต่งตั้งเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KBANK

3.นางวัลลภา ไตรโสรัส วัย 45 ปี กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC (บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป) มาร์เกตแคป 171,200 ล้านบาท ลูกสาวสุดเลิฟของ “เสี่ยเจริญ – คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” โดยวัลลภา รับบทเป็น CEO and President เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2562 ส่วนสามีของนางวัลลภา คือนายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส เป็นกรรมการ ใน AWC ด้วย

วัลลภาเรียนชั้นประถมที่อัสสัมชัญบางรัก ต่อที่สาธิตปทุมวัน และจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยรางวัลเกียรติยศ และไปจบสถาปัตยกรรม เกียรตินิยม ศิลปากร ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การวางผังเมือง มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ดินจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นนักวิเคราะห์การเงิน ที่บริษัทเมอร์ริล ลินช์ (เอเชียแปซิฟิก) จำกัด ฮ่องกง เป็นเวลา 2 ปี (อ้างอิง http://info.gotomanager.com/)

ปี 2544 กลับมารับหน้าที่กรรมการบริหาร บริษัทที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง จำกัด ก่อนขึ้นไปรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ที.ซี.ซี.แลนด์ จำกัด ดูแลจัดระบบทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด รวมทั้งการก้าวเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทที่มีประสบการณ์ทางด้านพัฒนาที่ดินมาแล้วทั่วโลก อย่างแคปปิตอลแลนด์ เกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาคือ บริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ จำกัด โดยเธอนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหาร (อ้างอิง http://info.gotomanager.com/)

“อดทนแล้วจะสำเร็จ” “เสียสละพ้นภัย” “เงียบอรหันต์” “ร่าเริงอายุยืน” “สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทอง เป็นของคนอื่น” “อำนาจเป็นของชั่วคราว ชื่อเสียงและเกียรติยศเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดกาล” เป็นคติที่ทายาททุกคนของเจริญ – คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ (อ้างอิงhttp://info.gotomanager.com/)

4.นางปรียนาถ สุนทรวาทะ วัย 61 กระรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM (บมจ.บี.กริม เพาเวอร์) มาร์เกตแคป 161,627.80 ล้านบาท โดยปรียนาถเป็น 1 ในผู้ที่เริ่มบุกเบิก BGRIM พร้อม ๆ กับ “ฮาราลด์ ลิงค์” เจ้าของและประธานกรรมการ โดยเธอจบบัญชีจุฬาฯ (นิสิตเก่าดีเด่นปี 2553) แล้วทำงานที่ไทยสมุทรประกันชีวิต และดีทแฮล์ม ก่อนจะยิงยาวกับ BGRIM

และปี 2562 คว้ารางวัลใหญ่ระดับเอเซีย “CEO of the Year 2019” จากงาน Asian Power Awards จัดโดยนิตยสาร AsianPower ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นในการบริหารองค์กรอย่างมืออาชีพ นำพาองค์กรให้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างความโดดเด่นในระดับภูมิภาค ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

5.นางดาวนภา เพชรอำไพ วัย 66 ปี กรรมการผู้จัดการ MTC (บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล) มาร์เกตแคป 137,800 ล้านบาท จากลูกสาวเจ้าของโรงสีในเมืองสุโขทัย จบปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนต่อปริญญาโท และทำงานร่วมกับสามี “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ สามารถทำงานเก็บเงินได้ 100 ล้าน ตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 สร้างธุรกิจด้วย “เงินต่อเงิน” ปล่อยเงินกู้ในนาม เมืองไทย ลิสซิ่ง จนเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน

“ชูชาติ” ชม “ดาวนภา” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ภรรยามีสัญชาตญาน รู้ว่าใช่ ไม่ใช่ นี่ทำ นี่อย่าทำ” โดย Fobes Thailand ระบุว่า จุดเด่นของดาวนภา ที่ชูชาติไม่มีคือ “สัญชาตญาน” ในการทำธุรกิจและความคิดริเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างเช่น ริเริ่มขยายสินเชื่อเข้าสู่สินเชื่อโฉนดที่ดิน หรือแม้แต่ช่วงจบใหม่ เขาคิดหาธุรกิจที่จะทำ โดยส่วนตัวที่เป็นผู้ชาย ชูชาติก็คิดว่าน่าจะทำธุรกิจก่อสร้าง (อ้างอิงเว็บ Fobes Thailand)

อย่างไรก็ตามทั้ง 5 CEO นางพญาองค์กรแสนล้าน! เหล่านี้ยังบริหารชีวิตส่วนตัวให้สมดุลย์กับเรื่องงานได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจด้วยนะคะ วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments