หุ้นสื่่อสาร

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า เพิ่งจะเม้าเรื่องวิบากกรรม หุ้นสื่อ TV ดิจิตอล! ไปหมาดๆ เมื่อ 19 พ.ย. ที่ผ่านมานี้เองค่ะ และสัปดาห์ก่อนก็ทำเอาช็อกวงการลงทุนกับการปิดตัวมันนีแชนแนล อย่างกระทันหัน พอเปิดศักราชสัปดาห์นี้ (3-8 ธ.ค.61) ก็พบ “ข่าวลือ”ในวงการสื่อสารมวลชน (อีกแล้ว) และแม้ทาง BEC จะออกมาแก้ข่าวว่ามี “ข้อมูล” ที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง แต่ก็ทำให้บรรยกาศตัวหุ้นหรือองค์กรต่างหวั่นไหวไปตามๆ กัน

มาดูต้นธารกันก่อนค่ะ “ช่อง3” BEC (บมจ.บีอีซี เวิลด์) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ 18 ก.ค. 39 ท่ามกลางการจับตาอย่างมาก ราคาไอพีโอ 142 บาท (พาร์ 10 บาท) ด้วยมาร์เก็ตแคปเกือบ 300,000 ล้านบาท (อ้างอิงเว็บข่าวหุ้น) แต่วันนี้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ของ BEC อยู่ที่ 10,700.00 ล้านบาท (3 ธ.ค.61)

และจากข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BEC 33 ราย ยังมีคนของตระกูล “มาลีนนท์” อยู่ถึง 15 ราย โดยรายชื่อที่ถือหุ้นสูงสุดของตระกูลคือ “น.ส. รัตนา มาลีนนท์” ถือ 179,672,420 หุ้น หรือ 8.98% โดย “รัตนา” เป็นลูกสาวของ “เจ้าสัววิชัย มาลีนนท์” ซึ่งเขามีบุตร-ธิดา รวม 8 คน ได้แก่ ประสาร -ประวิทย์ -ประชา -ประชุม -รัตนา- รัชนี – นิภา และอัมพร มาลีนนท์

ในส่วนผู้บริหารนั้น BEC มี นายสมชัย บุญนำศิริ เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท และมีการดึงคนดังมือดีอย่างนา แมทธิว กิจโอธาน และ นาย สมประสงค์ บุญยะชัย (เข้ามาตั้งแต่ ม.ค.60) อดีตซีอีโอของอินทัช เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทด้วย แถมเมื่อไปดูงบไตรมาส 3/61 BEC (เรตติ้ง ต.ค.61 อยู่อันดับ 2) มีกำไรสุทธิ 78.31 ล้านบาท เติบโต 125% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 34.80 ล้านบาท แต่ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

อันที่จริงเค้าลางของ BEC ส่อมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว เมื่อผลการดำเนินงานปี 2560 มีรายได้รวม 11,035 ล้านบาท แต่มีกำไรเพียง 61 ล้านบาท รายได้รวมลดลง 10% จากปี 2559 ที่เคยได้ 12,265.8 ล้านบาท แต่กำไรลดลงถึง 95% เป็นตัวเลขรายได้และกำไรน้อยที่สุดตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล (อ้างอิงเว็บ positioningmag)

ต่อมากองทุนระดับโลกอย่าง FRANKLIN TEMPLETON INVESTMENT FUNDS ที่มักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ได้ตัดขายหุ้น BEC ออกจำนวน 4,142,90 หุ้น คิดเป็น 0.21% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 99,304,300 หุ้น คิดเป็น 4.97% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ (อ่างอิงเว๊บข่าวหุ้น 28 พ.ย.61)

มาดูราคาของ BEC กัน ช่วง ก.ย.61 เคยพุ่งไปถึง 7.30 บาท พอขึ้นไตรมาส 4 เหลือ 6.95 บาท พอไปถึง เดือนพ.ย. 61 เหลือ 6.10 บาท จบสิ้นเดือน พ.ย. ที่ 5.35 และล่าสุด (3ธ.ค.61) เหลือ 5.30 บาท ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 15.30/5.00 บาท

และเมื่อไปส่องดูหุ้นในกลุ่ม MEDIA ถ้าเป็นสื่อโฆษณานอกบ้าน ยังพอมีลุ้น แต่ถ้าในหมวดทีวีดิจิตอล ก็ทรงๆ ไปทางทรุดๆ ค่ะ ขนาด WORK (บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์) ที่ว่าแน่นปึก ราคาเมื่อต้นเดือน พ.ย. 61 ยังเด่นที่ 33.00 บาท จากนั้นฮวบลงราคาล่าสุด 28.50 บาท (3ธ.ค.61) ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 86.50/25.25 บาท

ขณะที่ MONO – บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่เหมือนเสือนอนกิน ราคายังดิ่งๆ เลยค่ะ ราคาเมื่อต้นเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 2.06 บาท ราคาล่าสุด 1.82 บาท (3ธ.ค.61) ราคาสูงสุด/ต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ 4.92/1.68 บาท ส่วน GRAMMY (บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) และ RS (บมจ.อาร์เอส) ราคาตอนนี้ยวบลงจากต้นเดือนพ.ย.61เช่นเดียวกันคะ

อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ และทีวีดิจิตอล ต่างต้องเผชิญกับวิบากกรรมาตลอด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จะมีการประมูล หลายฝ่ายมองถึงอนาคตอันเรืองรอง ด้านทรัพยกรบุคคลในวงการ เตรียมตัวเป็น “มนุษย์ทองคำ” มีการซื้อตัว อัพเงินเดือนกันหวือหวา แต่แล้วผ่านไปไม่นานเมื่อโลกโชเชียลกลืนกินทุกสรรพสิ่ง ไม่เว้นแต่ทีวีดิจิตอล

และเมื่อรายได้ไม่สมดุล กับรายจ่ายสิ่งที่ต้องทำ “ลดต้นทุน” ซึ่งการจำหน่ายบุคคลบางส่วนออกไปจากองค์กร เป็นหนึ่งในกระบวนการลดต้นทุน ที่มีประสิทธิ์ภาพมากที่สุด (แต่โหดร้ายมากที่สุดเช่นกัน) ฉะนั้นภาพขององค์กรสื่อหลายแห่งตั้งแต่ต้นปี ที่ต้องปรับสมดุล ทำให้ใกล้เคียงกันกับคำว่า “วิฤกติ” เข้าไปทุกขณะแล้ว

ส่วนหุ้นในกลุ่มสิ่งพิมพ์ และทีวีดิจิตอล ต้องไปลุ้นปลายปี หรือช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่อาจจะได้เจียดเงินจากสื่อโซเชียล มาเยียวยาได้บ้างนะคะ…ไปละบ๊ายย

Facebook Comments