แตกพาร์

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า เมื่อวาน 16 เม.ย.63 GULF (บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์) เทรดกันในราคาพาร์ใหม่แล้วนะคะ ทำให้นึกย้อนไปถึงหุ้นมหาชนยอดนิยมอย่าง PTT (บมจ.ปตท.) และAOT (บมจ.ท่าอากาศยานไทย) เลยไปค้นข้อมูล สนุก ๆ ของ 2 หุ้นตัวบิ๊ก มาให้อ่านกันเพลิน ๆ คะ

แต่ก่อนอื่นขอบันทึกขุ่นพี่ GULF ไว้ก่อน ราคาปิด 15 เม.ย.63 คือ 174.50 บาท หรือ 34.90 บาท (ราคาพาร์ใหม่) ในวันที่ 16 เม.ย.63 ราคาเปิด 35.25 บาท สูงสุด 35.75 บาท ต่ำสุด 33.25 บาท แล้วไปปิดที่ 33.25 บาท

ไปดูเรื่องราวของ PTT หุ้นตัวใหญ่ที่คนนิยมมากมายค่ะ

1.เข้าตลาดฯ ครั้งแรก

เมื่อวันที่ 6พ.ย.2544 มีการจำหน่ายหุ้น PTT หลังจากที่แปรสภาพมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำนวน 920,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200,000,000 บาท ขายหุ้นไอพีโอที่ 35 บาท และราคาหุ้นเคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 600 บาท

ปี 2544 ก่อนขายหุ้น PTT นั้น SET มีระดับการซื้อขายเฉลี่ยแค่วันละประมาณ 5,000 ล้านบาท มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) 1.5 ล้านล้านบาท

ในการจองซื้อ ในส่วนที่ขายให้ประชาชนทั่วไปนั้น ขายหมดใน 1 นาที 17 วินาที คนอกหักอื้อ ทำให้ถูกลือว่ามีการล็อกเอาไว้ให้พรรคพวกนักการเมืองผู้มีอำนาจทั้งหลาย (อ้างอิง ข้อเขียนบรรยง พงษ์พานิช)

และในรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรร มีรายชื่อของผู้ที่เป็นนักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติ เป็นพรรคพวกกับผู้มีอำนาจอยู่หลายคน (อ้างอิง ข้อเขียนบรรยง พงษ์พานิช)

ราคาของ PTT วิ่งไซด์เวย์ อยู่เกือบ 2 ปี (44-45-46) เคยทำราคาสูงถึง 28.75 บาท เมื่อช่วงเดือน เม.ย.45 จากนั้นกลางเดือน เม.ย.46 วิ่งไปถึง 78 บาท ต่อมาอีก 6 เดือน พุ่งไปถึง 193.00 บาท

เสี่ยยักษ์ 1 นักลงทุนในตำนาน เล่าไว้ในหนังสือของเขา “กูรูหุ้นพันล้าน” ว่า “เคยมีคนถามว่าเสี่ยยักษ์เล่นหุ้นมา 20-30 ปี ได้กําไรหุ้นตัวไหน มากที่สุด เขาตอบอย่างภาคภูมิใจว่า “กําไรหุ้น PTT ตัวเดียวประมาณ 700 ล้านบาท จากใช้ทุนแค่ 70 ล้านบาท”

2.ข่าวใหญ่ PTT แตกพาร์

สาเหตุที่แตกพาร์…ราคาหุ้นของ PTT สูงมาก (ช่วงนั้นปี 44 เฉลี่ย 500 กว่าบาท/หุ้น) ซื้อที่ขั้นต่ำ 100 หุ้นต่อคำสั่ง ฉะนั้นต้องใช้เงินอย่างน้อย 50,000 บาทต่อคำสั่ง แต่เมื่อลดพาร์ลงแล้วใช้แค่ 5,000 บาทต่อคำสั่งเท่านั้น จึงให้นักลงทุนรายย่อย หรือพี่เม่าร่วมแจม PTT ได้สนุกสนานมากขึ้นมาถึงปัจจุบันนี้ค่ะ

วันที่ 20 ก.พ.2561 PTT ประกาศแตกพาร์ ตั้งแต่นั้นราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเหมือนกับหุ้นอื่นๆ ที่เคยแตกพาร์มาก่อนหน้านี้ แต่ PTT เด็ดดวง ขึ้นแรงถึง 22.5% สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นขนาดใหญ่ที่เคยแตกพาร์ในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 14.09% เท่านั้น

24 เม.ย.2561 PTT เริ่มซื้อขายด้วยมูลค่าพาร์ใหม่ที่ 1.00 บาท/หุ้น จากเดิมที่ 10.00 บาท ส่งผลให้ราคาหุ้น PTT เริ่มการซื้อขายพาร์ใหม่ที่ 57.20 บาท จากราคาปิดของวันที่ 23 เม.ย.61 ที่ 572.00 บาท

ราคาหุ้น PTT เทรดวันแรกหลังจากแตกพาร์ เปิดการซื้อขายที่ 57.75 บาท ก่อนจะปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 58.25 บาท ช่วงนั้นหลายสำนักวิเคราะห์ว่าพื้นฐานไม่เปลี่ยน แถมมีราคาน้ำมันฟื้นช่วยหนุนอีกแรง ราคาจะขึ้นแบบมีประสิทธิภาพ มองเป้าหมายไว้ที่ 643 บาทหรือราคาพาร์ใหม่ 64.30 บาท (แต่ต่อมา PTT ไม่เคยเกิน 60.00 บาทเลย สูงสุุด 59.50 บาท)

ถ้าเปรียบเทียบราคาหลังแตกพาร์ เปิดการซื้อขายที่ 57.75 บาท ขณะที่ราคาปัจจุบัน (16 เม.ย.63) ปิดที่ 33.25 บาท ลดลง 24.50 บาท หรือ -42.42%

มาดู AOT (บมจ.ท่าอากาศยาน) สุดยอดแห่งการผูกขาด

1.เทรดครั้งแรก

AOT เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 11 มี.ค.2547 ที่ราคา IPO 42 บาท จำนวน 358.80 ล้านหุ้น และ Market Cap ตอนนั้นคือ 60,000 ล้านบาท ขณะในปัจจุบัน 16 เม.ย.63 มาเก็ตแคปอยู่ที่ 782,142.08 ล้านบาท

AOT มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 70% อีก 30% ให้นักลงทุนทั่วไป

หลังจากเข้าตลาดฯไป 2 ปีต่อมา วันที่ 28 ก.ย.2549 สนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการราคาหุ้น AOT อยู่ที่ 57 บาท และเคยพุ่งไปสูงสุดถึง 74 บาทแต่แล้ว วิกฤติซับไพร์มปี 2551 บวกกับชุมนุมปิดสนามบิน(ช่วง มี.ค.2552) ราคา AOT ลงมาเหลือ 15 บาท มาเก็ตแคปเหลือเพียง 21,429 ล้านบาท ต่อมากราคาก็ขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกือบถึง 400 บาท

2.ฮือฮา AOT แตกพาร์

คณะกรรมการ AOT มีมติให้แตกพาร์จากหุ้นละ 10 บาทเป็นหุ้นละ 1 บาท ในวันที่ 29 พ.ย.2559 มีผลแตกพาร์วันที่ 9 ก.พ.2560 ราคาหุ้นช่วงตั้งแต่ประกาศแตกพาร์ จนถึงวันที่มีผลแตกพาร์รวม 72 วัน ปรับขึ้น 3%

วันที่ 9 ก.พ.2560 เทรดราคาพาร์ใหม่ที่ 1 บาท ที่ราคา42.25 บาท ราคาหุ้นปรับตัวลดลงที่ 41.75บาท ลดลง 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 1640 ล้านบาท

ราคาหุ้นก่อนแตกพาร์อยู่ที่ 390 บาท และหลังแตกพาร์ หรือการซื้อขายวันแรกในราคาพาร์ใหม่ราคาหุ้น AOT เคลื่อนไหวในกรอบ 38.00 – 41.00 บาท นานกว่า 6 – 7 เดือน ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยับขึ้นมา ซึ่งเคยทำราคาสูงสุด 78.25 บาท (1 ต.ค.62)

ถ้าเปรียบเทียบราคาหลังแตกพาร์ เปิดการซื้อขายที่ 42.25 บาท ขณะที่ราคาปัจจุบัน (16 เม.ย.63) ปิดที่ 54.00 บาท เพิ่มขึ้น 11.75 บาท หรือ 27.81%

การแตกพาร์ของง AOT ช่วงนั้นหลายเกจิมองว่าอยูี่ในช่วงวลาเหมาะสม รายย่อย – สถาบันอยากเก็บเข้าพอร์ต เพราะ เป็นธุรกิจผูกขาด กำไรเติบโตทุกปี ในแง่ของพื้นฐาน AOT ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากการแตกพาร์ เกิดสภาพคล่องสูงขึ้น และการแตกพาร์ของบริษัทที่มีพื้นฐานดี มักจะหนุนให้ราคาหลักทรัพย์ก่อนการการแตกพาร์ปรับตัวดีขึ้น 5 – 10%

สิปปกร ขาวสอาด นักลงทุนชื่อดังเคยเขียนไว้ว่า “การจะลงทุนในหุ้น AOT ให้ประสบความสำเร็จได้รับผลตอบแทนงดงาม ต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดที่จะเข้าไปเล่นเก็งกำไร เพราะสุดท้ายแล้วคงจะประสบความสำเร็จยาก ด้วยพลังของรายย่อยที่ไม่อาจต้านทานพลังของมือใหญ่ไปได้ แต่ต้องหันกลับมามองดูที่เนื้อแท้ของ AOT ที่ยอดเยี่ยมกิจการมีการเติบโตได้อีกในระยะยาว ธุรกิจยังอยู่ในเทรน มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง มีฐานะทางการเงินมั่นคงแข็งแกร่ง แล้วทยอยสะสมลงทุนไปเรื่อยๆ”

อิป้าหามาเล่า

ทั้งนี้ การแตกพาร์มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะค่ะ

ข้อดี นอกจากอัดฉีดสภาพคล่อง จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น สร้างความคึกคักให้ตลาดม่วนซืนแล้ว ข้อดีอีกประการคือ เป็นเรื่องผลทางด้านจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนมองดูว่าหุ้นราคาไม่แพง แมงเม่าตัวเล็กตัวน้อยก็มองว่า ไม่สูงสุดสอยแล้วสามารถเข้าไปครอบครองได้แล้วค่ะ อีกทั้งผลทางจิตวิทยานี่เอง จะทำเป็นบวกส่งผลราคาหุ้นเพิ่มในช่วงสั้น ๆ ด้วยค่ะ

ข้อเสีย เนื่องจากปริมาณหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น นักลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องดีลกับนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การแตกพาร์ จำนวนหุ้นที่เยอะเกินไป อาจทำให้ราคาหุ้นไม่ขยับไปไหน อาจหวือหวาแค่ช่วงแรกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแตกพาร์นั้น บางทีถูกมองไปว่า ต้องการปั่น หรือไม่อย่างไร ขนาดมีวลีเด็ดว่า “ถ้าอยากให้มีการปั่น เก็งกำไร หรือสวิงมาก ๆ ต้องแตกพาร์อยู่เรื่อยๆ” …วันนี้ไปล่ะค่ะ บ๊ายย

Facebook Comments