epahamalao

ย้ายบริษัท “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นับต่อไหม?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า วันนี้จะไปขอเม้าเรื่อง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กันอีกสักรอบนะคะ พอดีมีลูกเพจที่น่ารัก ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง อินบล็อกมาถามไถ่เรื่องผลประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ อิป้าไม่รอช้า นำคำถามไปให้ “ผุู้รู้ตัวจริงเสียงจริง” อย่าง บลจ.กสิกรไทย เป็นผู้ไขปริศนา และยังเพื่อให้คนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ความรู้ไปด้วยค่ะ

โดย คุณวรรณ เล่าให้อิป้าฟังว่า ทำงานอยู่ในบริษัท ก. ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 59 และเริ่มมาได้ทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ BBB เดือนม.ค. 60 เรื่อยมา โดยหักทุกเดือน ๆ ละเท่า ๆ กัน จนกระทั่งมาเดือนเม.ย. 61 ทาง HR ได้แจ้งให้ทางคุณวรรณ ย้ายไปอยู่ในบริษัท ข. (บริษัท ข. ก็ยังอยู่ในเครือเดียวกันกับบริษัท ก. )และยังเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ BBB เดียวกันกับบริษัท ก. และหักเงินเข้ากองทุนเท่าเดิมในทุก ๆ เดือน

โดยนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของทั้งบริษัท ก. และบริษัท ข. คือ ถ้าอายุงานตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี เงินสมทบและผลประโยชน์อยู่ที่ 40% ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 6 ปี เงินสมทบและผลประโยชน์อยู่ที่ 60% ตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 7 ปี เงินสมทบและผลประโยชน์อยู่ที่ 80% และตั้งแต่ 7 ปีขี้นไป เงินสมทบและผลประโยชน์อยู่ที่ 100%

คำถามมีดังนี้ค่ะ…คุณวรรณ มีความกังวลว่า อายุของกองทุนจากบริษัทก. ไปบริษัท ข.จะต่อให้อัตโนมัติหรือไม่ ??

เหตุผลที่กังวล คือเพราะตอนที่ได้สลิปเงินเดือนฉบับใหม่ ตั้งแต่หลังเดือนเม.ย. 61 เป็นต้นไป เหมือนกองทุนสำรองฯ เริ่มมานับ 1 ใหม่ รวมถึงใบบันทึกผลตอบแทนทุก ๆ ครึ่งปีที่ได้ ก็แยกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเป็น 2 บริษัท เหมือนไม่ได้รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วยกัน จึงมีความกังวลเรื่องอายุงานที่จะมีผลตอบแทนของกองทุนสำรองฯ

เพราะถ้าไม่นับอายุต่อให้นั่นแสดงว่า เงินสมทบและผลประโยชน์อยู่ที่ 40% ในช่วงแรก ก็คือนับเป็น 1 ปีใหม่ใช่หรือไม่ โดย 1 ปีก่อนหน้านี้ที่บริษัท ก. ไม่ได้นับรวมไปด้วยใช่หรือไม่ ?

คำตอบมีดังนี้ค่ะ….ทางฝ่ายบริการลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.กสิกรไทย  ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ว่า…

  1. การนับอายุงานต่อเนื่องเพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ในการได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากนายจ้างตกลงให้นับอายุงานต่อเนื่อง สมาชิกก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อนี้ในข้อบังคับกองทุน (นับรวมต่อมาจากนายจ้างเดิม)
  2. สำหรับการนับอายุงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะแยกกันจากข้อ 1 ซึ่งจะเป็นไปตามแนวทางของกรมสรรพากร คือ นับอายุงานต่อเนื่องให้หากลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ภายใน 1 ปี และโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปที่นายจ้างรายใหม่ด้วย
  3. ส่วนการนับอายุสมาชิกภาพกองทุนจะนับต่อเนื่องได้หากสมาชิกไม่ได้นำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น คงเงินไว้ที่นายจ้างเดิมหรือโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาที่นายจ้างใหม่ ทั้งนี้เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั้นนอกจากเป็นการออมชนิดหนึ่งแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกคะ โดยกฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 15% ของ ค่าจ้าง หรือ 500,000บาท ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากันให้หักลดหย่อนได้ตามนั้น

นอกจากนี้แล้ว หลายคนเข้าใจผิดว่า เงินสมทบส่วนของนายจ้างก็นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายยอมให้เฉพาะเงินสะสมของเราเท่านั้นที่ทำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ส่วนเงินสมทบของนายจ้างไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ (อ้างอิงเว็บ www.itax.in.th)

ทั้งนี้ ถ้าบริษัทใด มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อย่ารอช้ารีบสมัครกันเลยนะคะ เพราะมีประโยชน์มากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยคะ…ไปละบ๊ายย

Facebook Comments
Skip to toolbar