epahamalao

5 ข้อควรรู้ ก่อนซื้อหุ้น แตกพาร์

แตกพาร์

มาแล้วค่ะ วันนี้อิป้าขอเม้าท์เรื่อง หุ้น แตกพาร์ หน่อยนะค่ะ ว่าจะว่าจะเม้าท์หลายรอบแล้ว ยังไมได้โอกาสสักที พอ “หุ้นพิมพ์นิยม” อย่าง บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หรือ ราคาพาร์ จากเดิม 10 บาท เหลือ 1 บาท จึงทำให้คันปากยิบๆ ต้องเม้าท์ให้ได้ค่ะ…มาดูกันนะคะว่า 5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อหุ้นแตกพาร์ มีอะไรบ้าง

5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อ หุ้นแตกพาร์

เริ่มจาก ข้อ1.หุ้นแตกพาร์ คืออะไรกันน้อ…ก่อนอื่น ต้องรู้ก่อนว่า “พาร์ ” คือมูลค่าที่ตราไว้ในใบหุ้น หมายถึงคนที่ตั้งบริษัทแล้ว ไปจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ว่า มีทุนเท่าไหร่ จะแบ่งหุ้นเป็นกี่หุ้น นั้นคือราคาพาร์ เท่ากับทุนจดทะเบียน หรือจำนวนหุ้นนั่นเอง การแตกพาร์นั้น ทุนจดทะเบียนเท่าเดิม ราคาหุ้นลดลง แต่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน

ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพกันเลยนะคะ ..เช่นอิป้ามีเหรียญ 10 บาท อยู่ 1เหรียญ ก็ไปแลก ให้เป็นเหรียญบาท 10 เหรียญ มูลค่ารวมอิป้าก็ยังมี 10 บาทเท่าเดิม แต่มีจำนวนเหรียญเยอะขึ้นนั้นเองค่ะ

ข้อ2.บรรดาสารพัดบริษัทยักษ์ใหญ่แตกพาร์กันไปเพื่อ??? ..สาเหตุส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทบิ๊กๆเหล่านี้ ก่อนแตกพาร์ จะมีราคาหุ้นอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก ทำให้นักลงทุนที่จะเข้าซื้อแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้รายย่อยได้แต่ตาดูดาว แต่เอื้อมไม่ถึง ฉะนั้นจำนวนหรือสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อยจึงต่ำ

แต่เมื่อแตกพาร์แล้วราคาหุ้นที่เคยสูงติดเพดาน ระดับหลักร้อยหรือหลายร้อยบาทต่อหุ้น ก็ลดลงมาอยู่หลักสิบบาทต่อหุ้น นักลงทุนรายย่อยก็มีเฮซิค่ะเข้ามาร่วมแจมได้ ทำให้ภาพรวมสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นก็มีมากขึ้น

ข้อ3.ข้อดีของการแตกพาร์ นอกจากอัดฉีดสภาพคล่อง จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น สร้างความคึกคักให้ตลาดม่วนซืนแล้ว ข้อดีอีกประการคือ เป็นเรื่องผลทางด้านจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนมองดูว่าหุ้นราคาไม่แพง แมงเม่าตัวเล็กตัวน้อยก็มองว่าไม่สูงสุดสอยแล้ว สามารถเข้าไปครอบครองได้แล้วค่ะ อีกทั้งผลทางจิตวิทยานี่เอง จะทำเป็นบวกส่งผลราคาหุ้นเพิ่มในช่วงสั้นๆ ด้วยค่ะ

ข้อ4.ข้อเสียของการแตกพาร์…เนื่องจากปริมาณหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น นักลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องดีลกับนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การแตกพาร์ จำนวนหุ้นที่เยอะเกินไป อาจทำให้ราคาหุ้นไม่ขยับไปไหน อาจหวือหวาแค่ช่วงแรกเท่านั้น และบางบริษัทไม่ต้องการนักลงทุนกระจิ๊บกระจ้อย ต้องการแต่ขาใหญ่เท่านั้น จะไม่แตกพาร์เพราะไม่ต้องการให้มีการทำราคาหรือซื้อขายโดยนักเก็งกำไรในกระดานมากนั้นเองค่ะ

อย่างไรก็ตามเรื่องการแตกพาร์นั้น บางทีถูกมองไปว่า ต้องการปั่น หรือไม่อย่างไร ขนาดมีวลีเด็ดว่า “ถ้าอยากให้มีการปั่น เก็งกำไร หรือสวิงมากๆ ต้องแตกพาร์อยู่เรื่อยๆ”

ข้อ5.สถิตย้อนหลัง 10 ปี ของหุ้นในกลุ่มดัชนี SET100 ที่มีการแตกพาร์…นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน 2561 ราคาหุ้นมักตอบสนองเชิงบวกนับตั้งแต่วันที่ประกาศข่าวจะแตกพาร์จนถึงวันแตกพาร์ โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.09% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75% แต่หลังแตกพาร์แล้ว พบว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่จะเริ่มทรง ๆ ตัว

เมื่อเจาะลึกเฉพาะหุ้นบลูชิพ (หุ้นที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง) ที่มีการแตกพาร์ในอดีต พบว่าให้ผลตอบแทนเป็นบวกแทบทุกบริษัท เช่น บมจ.บ้านปู (BANPU), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และล่าสุด บมจ.ปตท. (PTT)

เห็นแบบนี้ แล้วสงสัยอิป้าคงต้องไปสอย หุ้นแตกพาร์ มากกกอด สักตัว 2 ตัวแล้วละค้าา แต่ อะอะ อย่าลืมนะค่ะ การลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าคิดจะลงทุนก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนนะคะ…ไปละ บ๊ายยย
——————————————

ติดตามที่ :

? Website : www.epahamalao.com
? Facebook : www.facebook.com/epahamalao
? Instagram : www.instagram.com/epahamalao
? Twitter : www.twitter.com/epahamalao

#หุ้น #กองทุนรวม #fund #set #Mutualfund #epahamalao #อิป้าหามาเล่า #แตกพาร์ #หุ้นแตกพาร์

Facebook Comments
Skip to toolbar