epahamalao

“เฟิร์น – ศิรัถยา ” ให้เงินทำงานอย่างสงบจบที่กองทุน

เฟิร์น - ศิรัถยา

มาแล้วค่ะ อิป้าหามาเล่า ในยุคที่ผู้หญิงกับผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน หรือผู้หญิงบางคนทำงานเก่ง มีความสามารถมากกว่าผู้ชายเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับ “น้องเฟิร์น – ศิรัถยา อิศรภักดี” ที่มากด้วยความสามารถอย่าหาตัวจับได้ยากจริง ๆ ค่ะ

เพราะปัจจุบัน “เฟิร์น” อายุ 33 ปี แต่ทำงานหล๊ายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนิน รายการ “แชร์ข่าวเช้า” ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 8.00 น. ทาง TNN ช่อง 16 รายการ “เป๋าตุง” ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 18.30 น. ทาง True4U ช่อง 24 แถมยังรับงานพิธีกร นักพูด และนักเขียน ด้านการเงินส่วนบุคคล วิทยากร-อาจารย์พิเศษตามองค์กร และมหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ก่อตั้ง Wealth Me Up Wealth Me Up

ด้านการศึกษาของ “สาวเฟิร์น” ก็ไม่ธรรมดาเลยค่ะ จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมาต่อโท เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (MBE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากการศึกษาทำให้ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกของการลงทุนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 (อายุประมาณ 19 ปี) จากการเข้าไปอบรมคอร์สการเงินในช่วงปิดเทอม

หลังจากจบอบรมคอร์สการเงินแล้วก็เริ่มต้นลงทุนหุ้นแบบ DCA เดือนละ 2,000 บาท เพราะตอนเรียนหนังสือยังกู้ กยศ.เรียน การมีเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่เริ่มจากติดลบ แต่ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นคนที่ทำงานหลายอย่าง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ทำให้หันมาลงทุนใน “กองทุนรวม” มากกว่า เพราะเคยลงทุนหุ้นรายตัวแล้ว ไม่มีเวลาติดตามข้อมูล เพราะแต่ละวันทำงานตั้งแต่เช้ามืดยังเข้านอน ทำให้หุ้นที่ควรซื้อ ไม่ได้ซื้อ ควรขาย ไม่ได้ขาย เลยตัดสินใจ เทพอร์ตลงทุนมาที่ “กองทุนรวม”

“เฟิร์น” บอก อีกเหตุผลคือ “กองทุนรวม” ลงทุนได้ค่อนข้างหลากหลาย ด้วยเงินจำนวนไม่มาก ก็สามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเด่นๆ ที่หุ้นไทยไม่ค่อยมีอย่าง Healthcare หรือ Technology ได้ด้วย

โดยหลักคิดส่วนตัวคือ เราควรทำสิ่งที่เราถนัด ที่เราทำได้ดี…ให้คนอื่น คือผู้จัดการกองทุน ทำสิ่งที่เค้าถนัด ที่เค้าทำได้ดี จึงได้ concept ที่ว่า “ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน” ไปพร้อมๆ กัน

กองทุนรวมที่ลงทุนจะใช้แนวคิด “1 เป้าหมาย 1 กองทุนรวม” ลงทุนตามเป้าหมาย แต่อาจมากกว่า 1 กองทุนต่อเป้าหมายได้ เช่น

o เกษียณ: รับความเสี่ยงได้สูงมาก และลงทุนระยะยาวมากกกกก ดังนั้นจะลงทุนกองทุน RMF-LTF เต็มสิทธิ์ทุกปี เพื่อนำเงินก้อนนี้ไปใช้ตอนเกษียณ อย่างน้อยก็มีหลักประกันให้ตัวเอง ไม่ต้องลำบากลูกหลานมาดูแล

o ท่องเที่ยว: รับความเสี่ยงได้สูง หุ้นร่วงก็เที่ยวใกล้หน่อย หุ้นขึ้นก็เที่ยวไกลหน่อย โดยจะลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ (2-3 ปีมานี้ชอบกองทุนหุ้นเอเชีย เพราะมีกำลังซื้อสูง คนวัยแรงงานเยอะ เศรษฐกิจขยายตัว สะท้อนการเติบโตที่มีเสถียรภาพมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว)

o จับจังหวะ: เงินประมาณ 20-30% จะแบ่งไว้สำหรับจับจังหวะลงทุนตามโอกาส เช่นที่ผ่านมาก็เห็นโอกาสของกองทุนหุ้นกลุ่ม Technology กลุ่ม Innovation ก็จะแบ่งส่วนหนึ่งไว้ลงทุนระยะสั้น-กลาง

o สภาพคล่อง: เงินประมาณ 10% ของพอร์ต จะเก็บไว้สำหรับรักษาสภาพคล่อง และเผื่อมีโอกาสการลงทุนครั้งใหญ่ หรือวิกฤติ อย่างน้อยเงินก้อนนี้ก็สามารถนำไปซื้อของถูก หรือลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมได้ ซึ่งส่วนตัวจะนำไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

นอกจาก “กองทุนรวม” เฟิร์นซื้อประกันชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนข้างหลัง ซื้อประกันสุขภาพ เพื่อล็อกค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของตัวเองในแต่ละปี และซื้ออสังหาฯ (บ้านและคอนโดฯ) สำหรับลงทุนเพื่อสร้าง Passive Income โดยเลือกจากทำเลที่คุ้นเคย และซื้ออสังหาฯ ที่คิดว่าถ้าปล่อยไม่ได้เราก็อยากอยู่เอง

ส่วนในอนาคต “เฟิร์น” วางแผนไว้ว่า ในด้านชีวิต ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะถ้าเราทำวันนี้ให้ดี (ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ การทำงาน มิตรภาพ และการเงิน) อนาคตย่อมดีแน่นอน ขณะที่ด้านธุรกิจตั้งใจผลิตสื่อคุณภาพดี ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ให้กับคนไทย ได้เห็นความสำคัญ และเรียนรู้วิธีการ “ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน”

และด้านการเงิน วันที่เราไม่มี…ตัวเลขในบัญชีอาจสำคัญ แต่วันที่เราเริ่มมี…จะรู้ทันทีว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ “การแบ่งปัน” ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่หมายถึงความรู้ ความรัก โอกาส ฯลฯ นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง

เฟิร์นบอกเพิ่มเติมว่า การลงทุนให้ “วินัย” โดยเฉพาะการลงทุนแบบ DCA ฝึกให้เราเห็นค่าของสิ่งของเพียงเล็กน้อย (เงินหลักพัน) ที่ค่อยๆ โตเป็น 5 หลัก 6 หลัก 7 หลักไปเรื่อยๆ เพียงแค่มี “วินัย” ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต เช่น ออกกำลังกาย “ทุกวัน” แค่ 15-30 นาทีก็มีสุขภาพที่แข็งแรงได้ อ่านหนังสือวันละ 15-30 หน้า “ทุกวัน” ก็ทำให้ความรู้เราเพิ่มขึ้นได้ ฝึกภาษาวันละ 15-30 นาที “ทุกวัน” ก็ทำให้เราเรียนรู้ภาษาที่ 3 ได้ ฯลฯ

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากบอกนักลงทุนมือใหม่นั่นคือ อย่าลงทุนตามคนอื่น เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งสไตล์การลงทุน (passive vs. active) ประสบการณ์ (รู้ว่าควรเข้าตอนไหน และออกตอนไหน ไม่ใช่ซื้อเป็นอย่างเดียวแต่ออกไม่เป็น) จำนวนเงิน (ทุนไม่เท่ากัน ก็รับความเสี่ยงได้ต่างกัน) จังหวะเข้า-ออก (หุ้นเดียวกันแต่เข้าในเวลาที่ต่างกันอาจเป็นได้ทั้งหุ้นดี และหุ้นไม่ดี) ฯลฯ

ดังนั้น “จงหาสไตล์การลงทุนของตัวเองให้เจอ” วินัย สำคัญที่สุด มีความรู้แต่ไม่มีวินัย อาจลงทุนสู้คนที่ไม่มีความรู้แต่มีวินัยไม่ได้! (ทั้งวินัยในการลงทุนสม่ำเสมอ และวินัยในการ “ตัดขาดทุน” ให้เป็น)

ฮูยยย! เห็น “เฟิร์น” ตัวเล็ก ๆ แบบนี้ อิป้าแอบทึ่งเลยนะคะ ผู้หญิงอาร๊ายทำไมเก่งเกินตัวแบบนี้ อิป้าหามาเล่า เห็นแล้วต้องกลับไปเพิ่มความขยันเพิ่มให้กับตัวเองบ้างแล้วซิค่ะ..วันนี้ไปละค่ะบ๊ายยยย

Facebook Comments
Skip to toolbar